This Used to be my playground - ให้มันจบที่รุ่นเรา

โดย อรรถ บุนนาค

การที่เกิดมาในทศวรรษที่ 1970  เติบโตในทศวรษที่ 1980  รู้ความทันคนในทศวรรษที่ 1990  ในประเทศแดนดินถิ่นไทยงาม  ในน้ำมีปลาในนามีข้าว  แผ่นดินของเราอุดมสมบูรณ์แล้วนั้น  การเป็นคน ’ปกติ’ ในกรอบของโลกยุคนั้นไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญอะไร  โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1980  ที่ผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายและอำนาจเผด็จการนิยมมาหมาด ๆ   สังคมในช่วงนั้นดูเหมือนว่าจะก้าวเข้าสู่ความทันสมัยที่แท้จริง  ต้องใช่คำว่าดูเหมือน  เพราะแท้จริงในด้านอุดมการณ์หรือโครงสร้างอำนาจก็ยังถือว่าสืบทอดมรดกของรัฐจารีตเพียงแต่มีห่อกระดาษท็อฟฟี่สีสวยสดใสในนามของคำว่าทันสมัยห่อหุ้ม  ดังนั้นผู้คนในสังคมจึงรู้สึกว่าตัวเองมีเสรีภาพ  จนแม้กระทั่งผ้าอนามัยก็ยังมีเสรีเลย  ก็อปปี้โฆษณาผ้าอนามัยยุคนั้นมีเป็นเพลงจิงเกิ้ลที่เด็ก ๆ ต่างก็ร้องตามกันได้ว่า “อิสระเสรี  เหนืออื่นใด  มั่นใจในโกเต็กซ์นิวฟรีด้อม”

ในช่วงระยะเวลาตอนนั้น  วัฒนธรรมประชานิยมสำหรับคนรุ่นใหม่รุ่งเรือง  ที่ทางแห่งหนของคน ‘ไม่ปกติ’ ตามครรลองของสังคมไทยก็มีพื้นที่มีตัวตนขึ้นมา  LGBTQ กลายเป็นสิ่งสุดฮิตในยุคนั้น  ใครมีลูกชายต่างก็กลัวกันว่าจะเป็นตุ๊ด  ใครมีลูกสาวก็กลัวว่าจะเป็นทอม  เริ่มมีดารา  มีวรรณกรรม  ละคร  หนัง  ที่มีพื้นที่ของLGBTQ ขึ้นมา  แม้อาจจะเป็นรูปบิด ๆ เบี้ยว ๆ มีอคติอยู่เต็มไปหมด  แต่ก็เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์  ไม่ต้องเป็น “อีแอบ” พวกที่เป็น “สว่างจิต” “สลัวจิต”  ก็มีที่ทางประกาศตนออกมา  

ทว่าประเทศไทยก็คือประเทศไทย  ในช่วงที่ LGBTQ หลงระเริงกับอิสระเสรีเหนืออื่นใด เสมือนว่าสังคมไทยเริ่มให้การยอมรับ  แต่อย่างไรเสียโครงสร้างของสังคมและอำนาจต่าง ๆ ยังเป็นลักษณะปิตาธิปไตยรับเอามรดกอำนาจนิยมแบบทหารมาเต็ม ๆ แต่อยู่ในรูปลักษณ์แพ็กเกจจิ้งใหม่ดูสีสวยฉูดฉาดบาดตา  

เด็กกลุ่มหนึ่งในยุคนั้น  ในวัยมัธยมศึกษาตอนต้นโรงเรียนเอกชนชายล้วน  ยังหลงอยู่ในโลกลูกกวาดสีสวยสด  ระเริงกับสิทธิที่ดูเหมือนจะเปิดกว้างขึ้นในสังคม  ไม่ต้องปิดบังตัวตนในโรงเรียน  แต่อาจจะต้องปิดบังกับที่บ้านตามแต่เงื่อนไขของครอบครัวของแต่ละคน  กำลังสนุกสนานกับฝันสวย ๆ กิจกรรมสนุกสนานในโรงเรียน  ซึ่งมีที่ทางให้กับ LGBTQ ละครโรงเรียนชายล้วนบทนางเอก  นางร้าย  รำละครนาฏศิลป์ตามมาตรฐานกรมศิลปากร  ตัวแทนตอบปัญหาสารพัดวิชาในสนามแข่งทั้งในโรงเรียนนอกโรงเรียนจนออกโทรทัศน์  ตัวแทนประกวดมารยาท  ประกวดคัดลายมือ  ประกวดกลอนสด  ประกวดอ่านทำนองเสนาะ…อะไรเท่าที่สังคมในยุคนั้นจะมีที่ทางเอื้ออำนวยให้กับเยาวชน  ในยุคที่ยังไม่มีรายการเรียลลิตี้  ไม่มีการประกวดประชันที่ฟูเฟื่องไปทั่วทุกเขตคาม  ทุกสนามการแข่งขัน เยาวชน LGBTQ มีที่ทางในการพิสูจน์ตัวเอง  ครูชื่นชม  โรงเรียนประกาศกิตติคุณ  

เหมือนเรื่องจะไปได้สวย  เห็นอนาคตอันงดงามเป็นโค้งของสายรุ้ง  เด็กกลุ่มนี้ถูกแคสต์เพื่อต่อยอดในระดับมัธยมปลายในโรงเรียนเดียวกัน  ฝึกฝีมือเพื่อเป็นทีมกลอนสดตัวแทนโรงเรียน  อ่านทำนองเสนาะ  อ่านร้อยแก้ว  ทำละคร ฯลฯ  ทุกคนวาดฝันอันหอมหวาน…  แต่แล้วก็ต้องมาพังภินท์

เด็กกลุ่มนั้นลืมไปว่าตนนั้นอยู่ในโรงเรียนที่เคร่งศาสนารับเอาวัฒนธรรมวิกตอเรียนมาเต็มเปี่ยม  มีนายกสมาคมศิษย์เก่าอักษรย่อ “พ.” ซึ่งเป็นทหารเกลียดตุ๊ด  ผู้เคยรับตำแหน่งเป็นถึงองคมนตรี  ถึงขั้นประกาศในที่ประชุมโรงเรียนในหอประชุมใหญ่ถึงการต่อต้านว่าจะไม่รับเด็ก LGBTQ ไว้ในโรงเรียนเพราะเสื่อมเสียชื่อเสียงโรงเรียน  อาจจะเป็นเพราะว่าในวงการบันเทิงช่วงนั้นเฟื่องฟูด้วยกลุ่ม LGBTQ ที่เป็นรุ่นพี่ศิษย์เก่าของโรงเรียน  สังคมจึงแปะป้ายพะยี่ห้อว่าโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนผลิตตุ๊ด  อำนาจแบบทหารนิยมที่เป็นสังคมผู้ช้ายยยยผู้ชายยยย… จึงทนไม่ได้ที่จะต้องได้ชื่ออยู่ร่วมโรงเรียนผลิตตุ๊ด

ชื่อของเด็กกลุ่มนี้จึงถูกใช้ปากกาแดงขีดออกในตอนที่จะสอบต่อเข้าชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  ในปีพ.ศ.2531  ทั้งที่เด็กกลุ่มนี้สอบได้ในคะแนนระดับต้น ๆ แต่เมื่อแปะป้ายประกาศที่บอร์ดไม่มีรายชื่อของเด็กกลุ่มนี้  ทำให้กลุ่มเพื่อนที่เหนียวแน่นต้องแตกฉานซ่านเซ็นกระจัดกระจายกันไป  เดชะบุญยังมีครูดี ๆ หลงเหลืออยู่ในโรงเรียนบ้าง  แม้จะไม่มีใครกล้าออกไปปกป้องเถียงแทนเด็ก…เด็กกลุ่มนั้นก็เข้าใจนะ  ว่าครูก็มีปากมีท้องต้องกิน  มีครอบครัวต้องเลี้ยง  การสยบยอมต่ออำนาจเพื่อรักษาตัวเองไว้ไม่เป็นเรื่องแปลกอะไรและเข้าใจได้  แต่ก็มีครูเข้ามากอด  มีครูเข้ามาบอกว่า “หนูสอบได้นะ…แต่โรงเรียนเขาไม่เลือกหนู” 

ความทรงจำที่ประทับใจและจำติดตาของเด็กกลุ่มนั้นคือ  มีครูผู้หญิงที่เป็นครูใหม่เอี่ยมถอดด้ามมาสอนเด็กรุ่นนั้นตอนม.3  ขอเรียกว่าครูสิ  ยังกล้า ๆ กลัว ๆ ไม่กล้าทำตัวสนิทสนมกับเด็ก ๆ เท่าไรนัก  ยังคงดูคลื่นลมก่อนว่าจะเป็นอย่างไรในปีแรก  เป็นครูผู้หญิงที่ต้องมาสอนเด็กผู้ชายวัยห่ามแสนซน  แถมต้องสอนวิชาเพศศึกษาตามหลักสูตรในโรงเรียนชายล้วนที่รวมเอาแต่ตัวจี๊ดมาไว้  แต่ครูสิผู้ดูเฉย ๆ เชย ๆ เดินผ่านเด็กกลุ่มนั้นในวันประกาศผลสอบต่อเข้าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  เห็นทุกคนกำลังเศร้าสลดแม้จะไม่มีน้ำตาเพราะพอจะรู้และทำใจมาก่อนตั้งแต่การประกาศกร้าวของนายกสมาคมศิษย์เก่า  ครูสิเดินผ่านเลยเด็กกลุ่มนี้ลงบันไดจากตึกไป  แต่จิตวิญญาณของความเป็นครูแม้จะเป็นปีแรกก็ตาม..หรือไม่รู้ว่าจะเป็นความรู้สึกธรรมดาของความเป็นมนุษย์  ครูสิเหลียวขึ้นมามองเด็กกลุ่มนั้น  ยืนชั่งใจอยู่พักหนึ่ง  แล้วเดินมาหาเด็กกลุ่มนั้น  แล้วจับแขนพูดขึ้นว่า “หนูไม่ต้องเสียใจนะ  หนูสอบได้  คะแนนพวกหนูสูงมาก  แต่ครูม.เขาขีดชื่อหนูออก  หนูเข้าใจนะ  อย่าหมดกำลังใจ”  ทั้งที่เป็นคำปลอบโยนของครูซึ่งไม่ได้สนิทสนมกับเด็กกลุ่มนั้นแต่กลับตราตรึงในความทรงจำ  เพราะเป็นการพิสูจน์ว่าครูที่ไม่ได้เข้าข้างถือหางก็เห็นว่าเรื่องนี้มันไม่ถูกต้อง…ครูสิว่ามันไม่แฟร์

อีกหนึ่งความทรงจำ… ในช่วงระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของเด็กกลุ่มนั้นมีครูผู้ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนแล้วกลับมาเป็นครูสอนและเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในการขึ้นเป็นฝ่ายบริหารของโรงเรียน   ขอเรียกว่า “ครูสุ”  ครูสุเป็นผู้เห็นพรสวรรค์ของเด็กกลุ่มนี้  คอยหยิบจับเด็กกลุ่มนี้มาเจียรไนย  มาเข้าตัวเรือนให้เฉิดฉายอยู่ในเวทีโรงเรียน  ในช่วงระยะเวลานั้นก็คงได้มีส่วนรู้ส่วนเห็นโครงการกำจัดตุ๊ดของโรงเรียน  จำเนียรกาลผ่านจากเหตุการณ์นั้นไปแล้วนับสิบปี  ข่าวคราวที่แว่วมาถึงเด็กกลุ่มนั้นเกี่ยวกับครูสุนั่นคือ ครูสุได้ดิบได้ดีขึ้นเป็นผู้บริหารของโรงเรียน  แต่แล้วไม่รู้ด้วยเหตุผลกลใด…คงถูกกดดันมาจนเครียดเสียจริต  ข่าวเม้าท์โคมลอยถึงหูว่า ถึงขั้นอาละวาดในโรงเรียนออกมาแฉเปิดโปงเบื้องหลังอันฉาวโฉ่ต่าง ๆ ของโรงเรียน  จนมีดราม่าว่ามีครูผู้เคยสอนครูสุต้องมากอดห้ามเอาไว้และร้องไห้กันฟูมฟายกลางโรงเรียน…  เด็กกลุ่มนั้นฟังผ่าน ๆ แล้วก็พูดกันว่า “โถ…สงสาร”  แล้วก็แยกย้ายไปดำเนินชีวิตตามครรลองของแต่ละคนไป  

อยู่มาวันหนึ่ง ในระหว่างเดินข้ามทางเชื่อมระหว่างสยามดิสคัฟเวอรีกับสยามเซ็นเตอร์   ท่ามกลางโดมแก้วทางเชื่อมอันสวยงามประกายแสงแดดสดใส  เด็กกลุ่มนั้นซึ่งได้กลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวประกาศอัตลักษณ์ของตนในแนวทางของตนที่แตกต่างกันได้เดินช็อปปิ้งกันอยู่  ได้เจอเพื่อนฝูงคนรู้จักทักทายคุยกันตรงทางเชื่อมนั้น  ระหว่างที่คุยก็พบชายวัยกลางคนใส่กางเกงขาสั้นลากรองเท้าแตะและกางร่มภายในห้างอันเป็นที่ร่มเดินมา  ผู้คนในห้างต่างหันมองกับความแปลกประหลาด  คนกลุ่มนั้นจำได้ว่าชายกลางคนผู้เหมือนจะเพี้ยน ๆ นั้นคือครูสุผู้เคยสอนสั่งพวกตนคนนั้นเอง  ถึงจะจำได้แต่ก็ทำไม่รู้ไม่ชี้เพราะคิดว่าครูสุคงจำพวกตนไม่ได้  เนื่องจากเวลาที่ล่วงเลยมานาน  สภาพแต่ละคนได้เปลี่ยนแปลงไป  แต่ครูสุหยุดยืนมองคนกลุ่มนั้น  และเอ่ยชื่อของแต่ละคนได้ถูกต้อง  จนอดีตเด็กกลุ่มนั้นต้องหันมายกมือไหว้  ครูสุยืนรอให้อดีตเด็กกลุ่มนั้นคุยธุระกับคนรู้จักจนเสร็จสิ้น  แล้วเดินเข้ามา จับแขนเด็กคนที่สนิทกับครูสุมากที่สุดแล้วพูดขึ้นว่า  “ครูขอโทษ…เรื่องที่เกิดขึ้นตอนนั้นครูขอโทษจริง ๆ”  แรงบีบแขนของครูแน่นแรงขึ้น  นัยน์ตาของครูสุรื้นด้วยน้ำตาคลอหน่วย  กลุ่มอดีตเด็กร้อนผ่าวที่เบ้าตา  ไม่รู้ว่าด้วยเพราะแสงจ้าแดดลอดโดมกระจกมันแยงตาหรือแสบแผลเป็นปมอดีตที่ได้รับการเยียวยา  ได้แต่บีบมือครูกลับไปแล้วพูดว่า  “ครูสุไม่เป็นไร  พวกหนูเข้าใจ”  จากนั้นจึงแยกจากครูสุ  ให้หลังจากนั้นอีกหลายปีก็ได้ข่าวว่าครูสุได้เสียชีวิตลง

อดีตเด็กกลุ่มนั้นได้รับการเยียวยาจิตใจจากบาดแผลการเหยียดและเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ ด้วยคำพูดปลดล็อกเป็นคำขอโทษง่าย ๆ ของครูคนหนึ่ง    ต่างโลดแล่นไปตามบทบาทชีวิตของแต่ละคน  ดีบ้างเลวบ้างตามครรลองที่ควรเป็นไป  ตื่นเต้นตื่นตากับพื้นที่  การยอมรับของสังคมทั้งในประเทศไทยไปจนประชาคมโลก  มีสิทธิ์มีเสียงที่ได้พูดหรือแย้งกับการกระทำที่กดทับ  ริดรอน  สิทธิหรือความภาคภูมิ 

ในการก้าวเดินกลางแสงสว่างแห่งความหวัง  จู่ ๆ ก็เหมือนมีใครผลักเด็กกลุ่มนั้นตกลงเหวลึกดำมืดอีกครั้ง  เมื่ออ่านเจอข่าวว่า  สมาคมผู้ปกครองครูโรงเรียนที่พวกตนเคยอยู่นั้นจัดการบรรยายหัวข้อ  “เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เบี่ยงเบน”  ในปัจจุบันสมัยของพ.ศ.2561  กระแสสังคมซึ่งยอมรับสิทธิ์ LGBTQ  และโดยการรับรู้ของสากลว่าไม่ได้เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบน  

เป็นเวลาสามสิบปีพอดิบพอดีจากเหตุการณ์ครั้งเก่าที่เคยถูกปฏิเสธ  แต่ภาพความทรงจำ  รสขมปร่าที่ปลายลิ้น  ความเจ็บปวดในจิตใจ  ย้อนหวนคืนอย่างชัดเจน  แผลที่เหมือนจะได้รับการเยียวยาจนรอยเลือนหาย  กลับเหมือนถูกกรีดซ้ำตอกย้ำตรงจุดเดิมแหวะออกให้เป็นแผลสดอันแสบร้อน  อารมณ์ที่ไม่อาจจะบรรยายได้จุกคอแผ่ซ่านพุ่งสู่ดวงตาจนน้ำตาไหล  เป็นน้ำตารสเดิมในวัยเด็ก  สิ่งที่คิดเพื่อเยียวยาจิตใจในตอนนั้นก็คือ…

ช่างมันเถอะ…มันก็พิสูจน์แล้วว่าเขาไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง  แม้ที่นั่นเคยสอนเด็กกลุ่มนั้นมาจนจำติดตัวมาจนถึงวัยผู้ใหญ่เต็มตัวในวันนี้ว่า “จงรักคนอื่นเหมือนรักตัวเอง”  แต่เขา…ก็ไม่ได้รักเรา  ไม่เคยรักเรา  และจะไม่รักเรา  ทว่าอย่างไรเสียเราก็ต้องยืนหยัดต่อสู้ไม่ว่าจะต้องเจ็บปวดอีกสักกี่ครั้ง  เพื่อให้บาดแผลเช่นนี้ไม่ควรจะถูกสร้างและส่งผ่านไปยังรุ่นต่อไปอีก   #ให้มันจบที่รุ่นเรา  เถอะ         

การแบ่งประเภทชายรักชายในยุคสมัยนั้นภายในกลุ่มชายรักชายด้วยกันเอง ได้แก่

  1. “แอบจิต” หมายถึงชายรักชายที่ปกปิดไม่แสดงออกเพศสภาพเพศวิถี ทำตัวเหมือนผู้ชายชอบผู้หญิง มักถูกกระแนะกระแหนในหมู่เกย์ว่า “อีแอบ” 
  2. “สว่างจิต” หมายถึงเกย์ที่ออกสาวตลอดเวลา เปิดเผยตัวตนไม่ว่าอยู่กับใครก็ตาม
  3. “สลัวจิต” หมายถึงเกย์ที่จะเปิดเผยตัวเองเมื่ออยู่กับเพื่อน ๆ เกย์ด้วยกันเท่านั้น (บรรณธิการ)
Share this