โดย ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

ผู้เขียนมิได้รู้จัก “โอ๊ต มณเฑียร” มาอย่างเนิ่นนานแต่อย่างใด ทราบแค่เพียงว่าชื่อของเขาอยู่ในวงการศิลปินและนักเขียนสายเควียร์รุ่นใหม่ที่กำลังมาแรง และสร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่จับตามองในหลาย ๆ วงการ ดังนั้นเมื่อคุณโอ๊ต (ผู้เขียนเรียกเขาเช่นนี้อย่างติดปาก) ชักชวนอย่างอบอุ่นว่าจะพาชมผลงานชุดใหม่ล่าสุดอย่างใกล้ชิด ผู้เขียนก็ไม่รอช้าที่จะตอบตกลง เพราะนอกจากชื่อเสียงของศิลปินแล้ว ชื่อนิทรรศการ “สรงประภา: Reclining Queer Nudes” ก็ดึงดูดความสนใจของผู้เขียนอย่างมากเช่นกัน 

คำว่า “เควียร์” (Queer) นั้นถือว่าเป็นคำที่ดูเหมือนจะมีปัญหามากที่สุดในกลุ่มตัวย่อที่รวมอัตลักษณ์ทางเพศภาวะและเพศวิถีอันสลับซับซ้อนอย่าง LGBTQIA+ เนื่องจากเป็นคำที่ไม่มีนิยามตามตัว แต่มีความหมายเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งใดก็ตามที่ถูกแบ่งเป็น “ทวิลักษณ์” หรือคู่ตรงข้าม (binary) ดังนั้นชื่อของนิทรรศการนี้จึงสื่อว่าศิลปินกำลังพยายามตั้งคำถามกับทวิลักษณ์ของขนบศิลปะแบบนู้ดอยู่ในที

ทันทีที่ย่างก้าวเข้าไปในพื้นที่จัดแสดง (ซึ่งล้อมรอบด้วยผนังสีเขียวอ่อน เรียงรายด้วยภาพเขียนสีสันสะดุดตา มีเตียงนอนขนาดพอดีตัวกลางห้องแกลเลอรี่ที่ใช้ชื่อว่า “โพธิสัตวา” อันสื่อถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ซึ่งเปี่ยมด้วยเมตตาและไร้ซึ่งเพศภาวะอันตายตัว) ความรู้สึกตื่นเต้นก็เกิดขึ้นโดยฉับพลันทันใด ความตื่นเต้นที่ว่านี้มิได้เกิดจากการเห็นอวัยวะส่วนใดบนร่างกายที่เปลือยเปล่าของชายคนใดในภาพเขียนภายในห้อง แต่บรรยากาศภายในห้องจัดแสดงนั้นอบอวลไปด้วยความรู้สึก คำถาม ข้อสงสัย และความทุ่มเทของศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานด้วยความประณีต รวมถึงเรื่องราวที่ซุกซ่อนอยู่ภายในทุกอณู 

กลับมาที่เรื่องชื่อ คุณโอ๊ตเล่าว่า “สรงประภา” มิใช่แค่ชื่อถนนอันเป็นที่ตั้งของห้องจัดแสดงแห่งนี้ซึ่งเป็นส่วนขยายของสตูดิโอของเขา แต่ “สรงประภา” ในที่นี้หมายถึงการที่บุคคลที่ปรากฏในภาพเขียนแต่ละชิ้นกำลังนอนอาบแสง(และเงา) อย่างงดงาม “งานของเรามักจะได้แรงบันดาลใจจากสถานที่ ครั้งนี้เนื่องจากพระเอกของงานเป็นแสงต่าง ๆ ในสตูดิโอ เลยเลือกใช้ชื่อนี้เสียเลย” คุณโอ๊ตได้เล่าเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับที่มาที่ไปของผลงานชุดนี้ นับตั้งแต่งานชุดที่ผ่านมา (Eros) ที่วาดนู้ดฝรั่ง ก่อนเริ่มต้นวาดภาพเรือนร่างของเกย์เอเชียนในแบบตะวันออกนิยม (Orientalism) ในชุดนี้ รวมไปถึงความพยายามจะเชื่อมโยงอารมณ์และความปรารถนาของเขาเข้ากับสังคมไทยที่เขาได้หวนกลับมาหลังจากไปเติบโตและศึกษาอยู่เมืองนอกกว่าครึ่งชีวิต

ในโชว์นี้ ชายแต่ละคนที่ปรากฏเรือนร่างอันเปลือยเปล่ากำลังเล่าเรื่องราวในแบบที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ภาพของนักแสดงหนังเอ็กซ์ พนักงานบริษัท นักแสดงละครเวที ดีไซน์เนอร์ ฯลฯ โดยคุณโอ๊ตเล่าว่าเขาเลือกที่จะวาดนายแบบอายุปลาย 20s จนถึงต้น 30s เพื่อเล่าถึงอัตลักษณ์ที่ใกล้เคียงกับตัวผู้วาดเองลงไปในรูปด้วย นอกจากนี้ คุณโอ๊ตแนะนำเรื่องราวเบื้องหลังเจตนาในการตอกย้ำความพร่าเลือนระหว่างร่างกายในอุดมคติ กับร่างกายของบุคคลตามสภาพ อีกทั้งการวาดภาพให้สมใจของนายแบบไปพร้อม ๆ กัน “บางคนขอให้วาดก้นใหญ่ ๆ บางคนวาดจู๋ใหญ่ ๆ บางคนให้วาดให้ดูแมน ๆ หรือบางคนให้ดูสาวสวย สิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้ว่าภาพลักษณ์อุดมคติของเรือนร่างเกย์หลาย ๆ คน ก็ยังคงยึดโยงอยู่กับภาพจำแบบ binary ชาย-หญิงอยู่ดี” คุณโอ๊ตอธิบาย

คุณโอ๊ตเล่าถึงกระบวนการการทำงานเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อแบบมาที่สตูดิโอแล้ว เขาจะขอให้แบบเลือกชุดภาพที่กอปรขึ้นจากไพ่ทาโรห์ Major Arcana จากนั้นจึงใช้ไพ่เป็นสิ่งเปิดบทสนทนา ทำไมถึงเลือกไพ่ใบนี้? ชอบอะไรเกี่ยวกับมัน? เห็นตัวเองในนั้นอย่างไร? เมื่อได้คำตอบของคำถามเหล่านี้ ศิลปินจะเลือกโพสต์ท่า (มักล้อเลียนท่าโพสต์ของศิลปะคลาสสิกชื่อดัง เช่น Olympia ของ Manet หรือ Spirit of the Dead ของ Gauguin) และเลือก “แสง” ที่สะท้อนความรู้สึกระหว่างเขากับแบบมากที่สุด

ขณะที่ผู้ร่วมเข้าชมนิทรรศการกำลังสอดส่องสายตาไปยังภาพต่าง ๆ ผู้เขียนพบว่าตนกำลังถูกจับจ้องโดยสายตาของชายเปลือยกายในภาพเขียนหลาย ๆ ชิ้นและดูเหมือนว่าสายตาของพวกเขาเต็มไปด้วยคำถามและการครุ่นคิดพิจารณา บางภาพถึงขั้นมองกระจกเพื่อพิจารณาเรือนร่างตนไปพร้อม ๆ กับพิจารณาเรือนร่างของผู้ที่เข้าชมนิทรรศการไปพร้อม ๆ กัน และดูเหมือนว่าคำถามและการครุ่นคิดพิจารณาในแต่ละภาพกำลังทำให้ผู้เขียนเองเริ่มย้อนคิดพิจารณาสถานะของตนในฐานะผู้จ้องมอง (the gazer) ที่แยกขาดจากร่างกายของชายเปลือยเปล่าในฐานะวัตถุแห่งการจ้องมอง (the gazed) ไปสู่สถานะอันคลุมเครือและพร่าเลือน 

ภายในเวลาอันสั้นที่ผู้เขียนได้เดินชมผลงานใน “โพธิสัตวา” แกลเลอรี่ ผู้เขียนได้ตระหนักแล้วว่า คุณโอ๊ตมิใช่แค่ศิลปินผู้ช่ำชองในการหยอกเย้าแสงและเงารวมถึงจัดวางองค์ประกอบในแต่ละภาพได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ และคุณโอ๊ตก็มิใช่แค่นักเล่าเรื่องผู้ซึ่งช่ำชองในใช้เครื่องมือของนักมานุษยวิทยาที่เรียกว่า “อัตชาติพันธุ์วรรณา” (autoethnography) ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวในชีวิตของตนอย่างลุ่มลึก (ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนสร้างสรรค์งานเขียนชิ้นนี้ในลักษณะเดียวกัน)… แต่คุณโอ๊ตยังเป็นผู้ช่ำชองในการใช้เวทมนตร์ไม่ต่างไปจากคุณทวดของเขา ซึ่งผู้เขียนทราบภายหลังว่าเป็นหมอผีชื่อดังในจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่างกันก็แค่เพียงเวทมนตร์ที่คุณโอ๊ตใช้มิใช่เวทมนตร์แห่งการรักษาโรคภัยหรือขับไล่ภูตผีปิศาจตามความเชื่อท้องถิ่นที่คุณทวดช่ำชอง หากแต่เวทมนตร์ของคุณโอ๊ตคือการบันดาลให้ภาพเขียนของเขาสามารถสั่นคลอนสถานะอัแตกต่างกันระหว่างผู้เข้าชมกับผลงาน อีกทั้งยังชี้ชวนให้ผู้เข้าชมหันมาครุ่นคิดพิจารณา เรื่องราวในชีวิตผ่านร่างกายของตน ในสู่พรมแดนอันพร่าเลือนระหว่างความสมบูรณ์-ความไม่สมบูรณ์ ความงดงามเหนือจริง-ความงดงามตามสภาพ และเรือนร่างในอุดมคติตามมาตรฐาน-เรือนร่างนอกขนบ 

เมื่อโบกมือลาคุณโอ๊ตและเดินจากห้องนิทรรศการสีเขียวหยก ผู้เขียนตระหนักโดยทันทีว่า ไม่ควรปล่อยให้นิทรรศการที่มีคุณค่าและน่าตื่นเต้นเช่นนี้เงียบหายไปจนกว่าจะสิ้นสุดการจัดแสดงในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 หากงานเขียนชิ้นนี้กำลังถูกจับจ้องมองดูโดยผู้อ่านท่านใด ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านเหล่านั้นจะหาโอกาสไป “เยี่ยมชม” (และ “เยี่ยมชิม” อาหารภายในร้าน บาอิค บาอิค ที่ติดกันด้วย) ให้จงได้ และยิ่งกว่านั้น หากใครสนใจจะเป็นส่วนหนึ่งของงานโดยเปลือยกายเป็นแบบนู้ดในศิลปินวาดด้วยละก็ แอบได้ยินมาว่าคุณโอ๊ตเขาก็ยินดีอย่างยิ่ง

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/oatmontienstudio

จองรอบเข้าชมนิทรรศการได้ที่ facebook.com/bodhisattava.gallery (เปิดเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์)

Share this