
โดย ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี
อย่างที่ทราบกันทั่วไปว่า หนึ่งในนวัตกรรมทางความคิดที่สำคัญของฝ่ายสตรีนิยมและขบวนการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศในโลกตะวันตก คือการแยกความต่างระหว่าง ‘sex’ หรือ ‘เพศสรีระ’ อันหมายถึงเพศในแง่มุมทางชีววิทยาของร่างกาย เช่น อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบเจริญพันธุ์ ออกจากคำว่า ‘gender’ หรือเพศสภาพ อันหมายถึงเพศในแง่มุมที่เกิดจากการประกอบสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น ความเป็นชายและความเป็นหญิง
เนื่องจากสมัยก่อน เมื่อผู้หญิงพยายามลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ ก็มักวิ่งเข้าชนกับเพดานทางความคิดของสังคมชายเป็นใหญ่ ที่อธิบายว่าความแตกต่างทางเพศเป็นเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ การที่ผู้ชายแข็งแรงกว่าผู้หญิงโดยธรรมชาติย่อมทำให้ผู้ชายอยู่เหนือกว่า และเมื่ออะไรที่เป็น ‘ธรรมชาติ’ มันย่อมแปลโดยนัยว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จึงควรยอมรับและปล่อยให้เป็นเช่นนั้นต่อไปตามที่ธรรมชาติกำหนดมา ไม่ควรไปท้าทายหรือพยายามเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ขัดฝืนต่อธรรมชาติ
การคิดค้นคำว่า ‘gender’ หรือ ‘เพศสภาพ’ ช่วยให้ขบวนการสตรีนิยมและขบวนการอื่นๆ ที่เรียกร้องความเสมอภาคทางเพศในโลกตะวันตก สามารถต่อสู้กับเพดานทางความคิดที่เชื่อว่าเพศเป็นเรื่องธรรมชาติและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ดังกล่าว ได้อย่างทรงพลัง เพราะเมื่อ ‘ความเป็นชาย’ และ ‘ความเป็นหญิง’ (เพศสภาพ) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการประกอบสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ และไม่เกี่ยวอะไรกับเพศในทางชีววิทยาโดยกำเนิดของแต่ละคน ทำให้การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงความเหลื่อมล้ำทางเพศแบบที่เป็นอยู่จึงเป็นไปได้ ไม่เพียงแค่ผู้หญิง แต่ยังรวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในทุกรูปแบบ
‘เพศสภาพ’ จึงกลายเป็นอาวุธทางความคิดที่สำคัญในการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศมาอย่างยาวนาน และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในโลกตะวันตกที่ใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายและถูกแปล/แปลงเข้าไปใช้ในภาษาและวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลกสำหรับการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศเช่นกัน การแปลและให้ความหมายของคำว่า ‘gender’ ด้วยคำที่หลากหลายในภาษาไทย (เพศสภาพ, เพศสภาวะ, เพศสถานะ ฯลฯ) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนซึ่งสะท้อนพลังของคำๆ นี้ในการผลักเพดานทางความคิด
ทว่าการแพร่กระจายและขยายตัวของความคิดเกี่ยวกับ ‘เพศสภาพ’ ดังกล่าวในสังคมตะวันตก กลับไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นหรือไม่มีอุปสรรคใดๆ ตรงกันข้าม ‘เพศสภาพ’ เป็นแนวคิดที่ถูกต่อต้านและมีปฏิกิริยาโต้กลับอย่างรุนแรง จากคนกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการปกป้องสถานะความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศแบบเดิมเอาไว้ ซึ่งในแง่นี้ก็ไม่ต่างอะไรกับทุกขบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่มักต้องเผชิญกับกระแสปฏิกิริยาโต้กลับโดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการรักษาสังคมแบบเดิมเอาไว้
Judith Butler นักปรัชญาและนักทฤษฎีชาวอเมริกันคนสำคัญ ผู้มีชื่อเสียงและบทบาทอย่างมากต่อขบวนการสตรีนิยมและขบวนการความหลากหลายทางเพศตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ยี่สิบจนถึงปัจจุบัน ได้อธิบายถึงการปรากฏตัวขึ้นของกลุ่มและขบวนการเคลื่อนไหวในโลกตะวันตก (ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และลาตินอเมริกา) ที่พยายามปฏิเสธและมีปฏิกิริยาโต้กลับอย่างรุนแรงต่อแนวคิดเรื่อง ‘เพศสภาพ’ (gender) ซึ่งตัวของ Butler เองก็ถูกมองว่าเธอเป็นเหมือนประกาศกทางความคิดคนสำคัญของแนวคิดนี้ จนทำให้เธอถูกประท้วงต่อต้านหลายครั้งเมื่อเดินทางไปร่วมงานวิชาการที่นอกประเทศ
Butler ชี้ว่าปฏิกิริยาโต้กลับและการต่อต้าน ‘อุดมการณ์เพศสภาพ’ (gender ideology – คำที่ฝ่ายต่อต้านใช้เรียก) เริ่มปรากฏตัวขึ้นให้เห็นราวปี ค.ศ.2004 ตัวแสดงที่มีบทบาทอย่างมากในการต่อต้านคำว่า gender อย่างกระตือรือร้น คือ องค์กรของศาสนจักรแห่งคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก โดยมีการแสดงความกังวลว่า คำว่า ‘gender’ เป็นแนวคิดที่มีศักยภาพในการบ่อนทำลายคุณค่าของความเป็นผู้หญิงในแบบที่คริสตจักรยึดมั่นและสอนอยู่ ซึ่งอาจเป็นการจุดไฟความขัดแย้งระหว่างเพศ และเปิดโอกาสให้ผู้คนเริ่มท้าทายการแบ่งแยกลำดับชั้นตามธรรมชาติระหว่างเพศชายและหญิง อันเป็นฐานรองรับคุณค่าของครอบครัวและสังคมในแบบดั้งเดิม
นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 2016 สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรานซิส (Pope Francis) ได้ประกาศว่า “เรากำลังเผชิญกับช่วงเวลาของการทำลายล้างมนุษย์ในฐานะที่เป็นฉายาของพระผู้เป็นเจ้า” โป๊ป ฟรานซิส เห็นว่าอุดมการณ์เพศสภาพนั้นเป็นสิ่งที่สร้างความเสื่อมเสีย และ “ปัจจุบันพวกเด็กๆ ถูกสอนในโรงเรียนว่าทุกๆ คนสามารถเลือกเพศของเขาและเธอได้ตามใจชอบ !” และยังเห็นว่าศาสนากำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการที่ “พระเจ้าสร้างมนุษย์ผู้ชายและผู้หญิง พระเจ้าสร้างโลกขึ้นมาแบบหนึ่ง แต่พวกเรากำลังทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม”
สำหรับกลุ่มทางศาสนาที่ต่อต้านแนวคิดเรื่อง ‘gender’ พวกเขาถือว่าการมองว่าเพศเป็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้คนในการกำหนดรสนิยมทางเพศและเลือกเพศสภาพของตนเองได้โดยเสรีตามใจชอบ ถือเป็นการพยายามช่วงชิงอำนาจในการสร้างของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นการท้าทายขีดจำกัดที่พระเจ้าทรงกำหนดเอาไว้ให้อยู่เหนือเจตจำนงเสรีของมนุษย์ ดังนั้นคำว่า ‘gender’ ที่นำไปสู่การเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศและเสรีภาพทางเพศ จึงไม่ต่างอะไรกับปีศาจร้ายที่ทั้งละเมิดและบ่อนทำลายคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา
Butler โต้แย้งการมอง ‘เพศสภาพ’ หรือ ‘gender’ ว่าเป็นอุดมการณ์เชิงลบที่บ่อนทำลายและเป็นสิ่งชั่วร้ายดังกล่าว ว่าวางอยู่บนความเข้าใจผิดหลายประการ
ประการแรก Butler ไม่เห็นด้วยกับการเรียกแนวคิด ‘gender’ ว่าเป็น ‘อุดมการณ์’(ideology) เนื่องจากคำว่า ‘gender’ ไม่ใช่ทฤษฎีหรือความเชื่อที่มีความเป็นเอกภาพ มีความเป็นหนึ่งเดียว หรือมีแก่นสารที่ทุกคนยอมรับร่วมกันโดยดุษณี สำหรับเธอ โลกของเพศสภาพศึกษา (gender studies) มีความสลับซับซ้อน มีความหลากหลายในแง่วิธีวิทยาและรูปแบบ เป็นพื้นที่วิชาการที่มีชีวิตชีวาและมีการถกเถียงภายในกันอยู่ตลอดเวลาทั้งในแง่เป้าหมาย นิยาม และสมมติฐาน ทั้งยังมีลักษณะข้ามสาขาวิชา การใช้คำว่า ‘อุดมการณ์เพศสภาพ’ (gender ideology) ราวกับว่าเป็นทฤษฎีที่มีเอกภาพและกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของแนวความคิดดังกล่าว
ประการที่สอง Butler เห็นว่า หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทฤษฎีหรือคำอธิบายเกี่ยวกับเพศสภาพหรือ gender ที่อธิบายว่าเพศเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ใช่คำสอนหรืออุดมการณ์หรือความเชื่อฝังหัวที่มุ่งทำลายล้างและมีความชั่วร้าย แต่เธอเห็นว่า ‘gender’ คือแนวทางในการแสวงหารูปแบบของเสรีภาพทางการเมือง เป็นเสรีภาพในแบบที่จะทำให้ผู้คนสามารถมีชีวิตอยู่ในโลกที่เสมอภาค เป็นธรรม และน่าอยู่ได้มากขึ้น กล่าวคือ แนวคิดเกี่ยวกับ ‘gender’ นั้นเป็นการเปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่อนุญาตให้ผู้คนมีเสรีภาพที่จะมีชีวิตทางเพศทั้งแบบที่เป็นอยู่เดิมและแบบที่พวกเขาเลือกด้วยตนเอง โดยที่ไม่ถูกเลือกปฏิบัติและไม่ตกอยู่ในความหวาดกลัวในสังคม
การต่อต้านและปฏิเสธเสรีภาพดังกล่าวของฝ่ายที่ต่อต้านแนวคิดเพศสภาพ ดังตัวอย่างของ โป๊ป ฟรานซิสและคนในคริสตจักรจำนวนมาก ซึ่งทำกันมาด้วยความคุ้นเคย จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ร้ายแรงกับชีวิตของผู้คนจำนวนมากในโลก ผู้หญิงที่ปรารถนาที่จะยุติการตั้งครรภ์ (หรือที่คนไทยเรียกว่า “ทำแท้ง”) ก็จะถูกกีดกันจากเสรีภาพในการเลือกดังกล่าว กลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่ต้องการแต่งกันกับคนเพศเดียวกันก็จะถูกปฏิเสธการมีกฎหมายหรือทางเลือกที่จะทำให้พวกเขาบรรลุความปรารถนาดังกล่าว และคนที่ปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงเพศของตนใหม่ให้ต่างออกไปจากเพศเดิมที่มีมาโดยกำเนิดก็จะถูกห้ามไม่ให้ทำตามที่ใจเขาต้องการ
นอกจากนี้ การต่อต้านและปฏิเสธแนวคิดเพศสภาพดังกล่าว ยังอาจส่งผลต่อระบบการศึกษาในโรงเรียน ครูส่วนใหญ่อาจถูกห้ามไม่ให้มีโอกาสได้สอนเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศให้นักเรียนได้ฟัง คนรุ่นใหม่ก็จะไม่อนุญาตให้เข้าถึงความรู้เกี่ยวกับชีวิตทางเพศที่เกิดขึ้นจริงๆ ในโลกข้างนอก การศึกษาเรื่องเพศในโรงเรียนด้วยความเปิดกว้างและคิดเชิงวิพากษ์ ไม่ได้มุ่งเพื่อสอนให้นักเรียนสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองเป็นหรือสอนให้กลายเป็นคนรักเพศเดียวกัน แต่เป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษาเรื่องเพศ คือการสอนให้รู้จักและคุ้นเคยกับความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งความเสมอภาคทางเพศ เพื่อตั้งคำถามกับแนวคิดความเชื่อเรื่องเพศแบบเดิมที่กดทับเสรีภาพในการใช้ชีวิตทางเพศของผู้คนจำนวนมากเอาไว้อยู่
แนวคิดเรื่องเพศสภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสู้เพื่อเรียกร้องความเสมอภาคและเสรีภาพทางเพศ คือความพยายามในการช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานของผู้คนที่ถูกกดทับทางเพศ และช่วยให้พวกเขาถูกมองเห็นและถูกยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย
สำหรับ Butler การสอนเรื่องเพศสภาพจึงไม่ใช่การสอนความเชื่อฝังหัว เพราะมันไม่ใช่คู่มือเพื่อมาบอกผู้คนว่าพวกเขาควรใช้ชีวิตทางเพศอย่างไร มันเพียงช่วยเปิดโอกาสและความเป็นไปได้สำหรับผู้คนที่จะค้นพบวิถีชีวิตทางเพศของตนเองในโลกที่แต่เดิมถูกจำกัดด้วยบรรทัดฐานทางสังคมที่คับแคบและโหดร้าย
การยืนยันว่าโลกนี้มีความหลากหลายทางเพศสภาพ จึงไม่ใช่สิ่งที่มุ่งทำลายล้างสังคมแต่อย่างใด แต่เป็นการยืนยันถึงความซับซ้อนของการเป็นมนุษย์ และสร้างพื้นที่ให้ผู้คนได้ค้นหาวิถีทางของตนในความซับซ้อนดังกล่าวได้อย่างเสรี
สุดท้าย Butler ยืนยันว่าโลกของความหลากหลายและความซับซ้อนทางเพศนี้จะไม่มีวันหายไป มีแต่จะถูกทำให้ตระหนักและสร้างการยอมรับมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตทางเพศของตนได้โดยไม่ถูกตีตรา หรือถูกคุกคาม หรือถูกใช้ความรุนแรง กระทั่งคนที่มีชีวิตทางเพศนอกกรอบของบรรทัดฐานทางสังคมกระแสหลัก ก็สมควรได้รับโอกาสในการมีชีวิตบนโลกโดยปราศจากความกลัวและสามารถมีความรักได้อย่างเสมอภาคเท่ากับคนทุกคน
‘เพศสภาพ’ หรือ ‘gender’ จึงไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนหรือกลุ่มใดๆ ควรหวาดกลัว
อ้างอิง
- https://www.newstatesman.com/2019/01/judith-butler-backlash-against-gender-ideology-must-stop
- https://sxpolitics.org/judith-butler-on-gender-ideology/20136
- https://www.catholicworldreport.com/2016/08/13/pope-francis-vs-gender-ideology/
ภาพประกอบ