
โดย ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี
เนิ่นนานมาแล้วที่สังคมไทยภูมิอกภูมิใจพร่ำบอกตนเองว่า แม้จะยังไม่มีกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอย่างเป็นทางการ แต่เราก็เป็น “สวรรค์ของชาว LGBT+” เพราะเป็นสังคมที่เปิดกว้างและให้เสรีภาพกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากกว่าสังคมอื่นๆ สามารถแสดงออกทางเพศได้โดยไม่ถูกลงโทษทางกฎหมายและความรุนแรง
แต่แทบทุกครั้งที่มีข่าวเกี่ยวกับ LGBT คนนั้นคนนี้เปิดตัวแต่งงานมีแฟน กลายเป็นต้องมีความคิดเห็นล้อเลียน กลายเป็นเรื่องตลกขบขัน หรือแสดงถ้อยคำในดูถูกเหยียดหยาม รังเกียจขยะแขยงอยู่เป็นประจำ
“ระเบิดถังขี้” เป็นอีกคำล้อเลียนเกย์ที่เห็นได้บ่อยจนชินตา ซึ่งไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงทัศนคติลึกๆ ที่ลดทอนให้รสนิยมทางเพศของเกย์ให้เป็นเรื่องตลกขบขันเท่านั้น แต่ยังให้ภาพโดยนัยว่าพฤติกรรมทางเพศของเกย์เกี่ยวข้องกับความสกปรก เป็นสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์ และเจือปนไปด้วยความรู้สึกรังเกียจของผู้ที่มองจากภายนอก
ทัศนะคติที่ลดทอนให้พฤติกรรมและรสนิยมทางเพศของเกย์เท่ากับความสกปรก/ไม่สะอาด เป็นสิ่งที่มีให้เห็นร่วมกันในหลายสังคมและวัฒนธรรม ไม่เว้นกระทั่งประเทศที่เป็นภาพตัวแทนของความก้าวหน้า ประชาธิปไตย และเสรีภาพ อย่างสหรัฐอเมริกาก็ตาม
Martha Nussbaum นักปรัชญาสตรีนิยมชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจากงานหลายชิ้นซึ่งศึกษาบทบาทของ ‘อารมณ์’ (Emotion) ที่มีต่อปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองของมนุษย์ เตือนว่า แม้สังคมอเมริกันจะพัฒนามาไกล เปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายทางเพศในหลายมิติ จนมีความเสมอภาคทางเพศมากขึ้นกว่าในอดีต แต่เราต้องอย่าหลงคิดไปว่าทัศนคติลบๆ และการรังเกียจกลัว LGBTQ+ ได้หายไปจากสังคมทั้งหมดแล้วอย่างสิ้นเชิง
แม้อาจไม่ได้เป็นทัศนคติที่ถูกยอมรับในพื้นที่กระแสหลักอีกต่อไป แต่ทัศนคติเชิงลบและ LGBT-phobia ยังสามารถซ่อนอยู่ลึกๆ ในหัวของผู้คนและยังส่งผลต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อยู่ดี เช่น กระบวนการออกกฎหมาย การเลือกปฏิบัติ
Nussbaum ยกตัวอย่างนักคิดและงานเขียนหลายชิ้นที่แสดงทัศนคติรังเกียจพฤติกรรมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของเกย์) และยังให้ภาพว่าพฤติกรรมทางเพศของเกย์นั้นล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีความสกปรกทั้งหลายอย่างชัดเจน หนึ่งในตัวอย่างที่สุดโต่งของทัศนคติดังกล่าว คือกรณีของ Paul Cameron ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าของสถาบันวิจัยด้านครอบครัว (Family Research Institute) ซึ่งเขียนและตีพิมพ์งานออกมาหลายชิ้นในประเด็นดังกล่าว (เช่นงานเขียนเรื่อง Medical Consequences of What Homosexuals Do)
อีตา Cameron ถือเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงและอิทธิพลอย่างมากต่อกลุ่มคนและขบวนการที่ต่อต้านการขยายสิทธิของเกย์ในสหรัฐอเมริกา แม้แต่กับผู้เสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐ Colorado ถึงขนาดที่จ้างให้ Cameron เป็นที่ปรึกษาอีกด้วย
เมื่อ Cameron พูดถึงเกย์ เขามักอธิบายให้เข้ากับสิ่งที่น่ารังเกียจน่าขยะแขยง เช่น พฤติกรรมทางเพศของเกย์นั้นจะมีการสัมผัส แลกเปลี่ยน และเจือปนไปด้วยสิ่งสกปรก อย่างน้ำลาย อุจจาระ น้ำกาม หรือเลือดกับชายคนอื่น และส่วนมากมักเกิดขึ้นในสถานที่ไม่สะอาด เช่น ห้องน้ำสาธารณะ ผับบาร์ทั้งหลาย และพฤติกรรมสกปรกเหล่านี้ก็นำไปสู่ความเสี่ยงอันตรายของการเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย การเอาตูดดี การเบิร์นตูดให้กันก็ดี ล้วนเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ตอกย้ำพฤติกรรมทางเพศที่สกปรกของ ในสายตาคนอย่างอีตา Cameron
การสร้างวาทกรรมแบบ Cameron นำไปสู่เป้าหมายสองเรื่อง คือพยายามให้สังคมรู้สึกรังเกียจรังงอนขยะแขยงเกย์ กับเชื่อมโยงพฤติกรรมทางเพศของเกย์เข้ากับความสุ่มเสี่ยงโรคภัยไข้เจ็บ นี่จึงไม่แปลกที่โรคไวรัสตับอักเสบบีและเชื้อ HIV/AIDS จะเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกบ่อยครั้งว่าบาปให้เป็นผลจากพฤติกรรมทางเพศที่ไม่สะอาดของเก้งกวาง
Cameron ไม่เพียงนำเสนอข้อเขียนในลักษณะดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าเท่านั้น เขายังเลือกบางสถิติและตารางข้อมูลมาสนับสนุนงานเขาเอง งานของเขาถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการที่ก่อตั้งโดยกลุ่มของเขากันเองหรือกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดของเขาด้วยกันเอง
แน่นอนข้อเสนอในงานของเขาจะถูกหักล้าง ปฏิเสธ และประณามโดยสมาคมวิชาการหลายแห่ง เช่น American Psychological Association และ American Sociological Association ว่าเป็นเพียงงานโฆษณาชวนเชื่อที่ปลอมตัวว่าเป็นงานวิชาการ มีความเป็นศาสตร์ กระทั่งไม่มีงานชิ้นใดของเขาเลยที่เคยถูกตีพิมพ์ลงในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหรือมีมาตรฐาน แต่งานเขียนของ Cameron กลับยังคงถูกอ้างอิงอยู่บ่อยครั้งอย่างต่อเนื่องในหมู่คนที่พยายามต่อต้านและจำกัดสิทธิของเกย์ รวมยังเคยถูกใช้อ้างในชั้นศาลอีกด้วย
แล้วสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายอย่างไร? ในมิติแรก คนอย่าง Cameron และบรรดาผู้สนับสนุนเขาได้ต่อต้านกฎหมายการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันและกฎหมายห้ามการเลือกปฏิบัติที่ออกมาปกป้องเกย์และเลสเบี้ยนในสหรัฐฯ พวกเขายังสนับสนุนการออกกฎหมาย Sodomy Law หรือกฎหมายลงโทษทางอาญากับผู้ร่วมเพศทางทวารหนัก กล่าวได้ว่าเป้าหมายสูงสุดของคนพวกนี้ในมิติกฎหมายคือ “ทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนให้เกิดการรักเพศเดียวกัน” นั่นเอง
และในมิติที่สองซึ่งก็เกี่ยวกับมิติของการออกกฎหมายเช่นกัน ซึ่ง Martha Nussbaum ได้ชี้ชวนให้เห็นได้อย่างน่าสนใจ คือปกติเรามักจะคิดว่าอารมณ์กับกฎหมายเป็นสองสิ่งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน กฎหมายควรเป็นเรื่องที่เกิดจากกระบวนการพูดคุยบนหลักการบางอย่าง ไม่ควรใช้อารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ Nussbaum ชี้ให้เห็นว่าในความเป็นจริงมีคนจำนวนหนึ่งที่พยายามเสนอให้ใช้มิติทางด้านอารมณ์ โดยเฉพาะความรู้สึกรังเกียจ/ขยะแขยง (Disgust) ของสังคม เพื่อเป็นฐานในการออกกฎหมายในการปกป้องสังคมเอง สองบุคคลที่เป็นตัวการณ์สำคัญในกรณีนี้ คือ Lord Patrick Devlin นักกฎหมายชาวอังกฤษ และ Leon Kass นักชีวจริยศาสตร์ชาวอเมริกัน
ขณะที่นักกฎหมายแนวเสรีนิยมจำนวนหนึ่งเห็นว่าบุคคลควรมีเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่ไปละเมิดเสรีภาพชาวบ้านเค้า ดังนั้นกฎหมายควรจะห้ามเฉพาะพฤติกรรมที่จะไปล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นเท่านั้น แต่ทั้ง Devlin และ Kass กลับเห็นตรงกันว่าการห้ามไปล่วงละเมิดหรือคุกคามต่อเสรีภาพของผู้อื่นยังไม่เพียงพอต่อการใช้เป็นฐานในการออกกฎหมาย
ทั้งคู่เห็นว่าในทุกสังคมย่อมมีของบางสิ่งหรือพฤติกรรมบางอย่างที่ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกร่วมกันว่ามีความ ‘น่ารังเกียจ’ ‘น่าขยะแขยง’ ซึ่งแค่ความรู้สึกเหล่านี้ก็เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วที่จะออกกฎหมายเพื่อมาจำกัด ห้าม และลงโทษพฤติกรรมที่น่ารังเกียจเหล่านั้น
Devlin เสนอว่า แม้เสรีภาพจะเป็นคุณค่าสำคัญของสังคมที่ควรรักษาไว้ แต่กระนั้น การที่สังคมหนึ่งๆ จะอยู่รอดได้ก็จำเป็นต้องมี ‘ระบบศีลธรรมที่เข้มแข็ง’ ซึ่งคนในสังคมยึดถือร่วมกันเช่นกัน หากมันเกิดสั่นคลอนขึ้นมา สังคมนั้นก็ชิบหายได้
แต่อะไรคือเกณฑ์ที่จะใช้วัดว่าพฤติกรรมแบบไหนบ้างที่เข้าข่ายการคุกคามศีลธรรมของสังคม จนจำเป็นต้องออกกฎหมายมาเพื่อจำกัดเสรีภาพ?
สำหรับ Devlin การที่คนส่วนใหญ่ในสังคมรังเกียจเดียดฉันท์พฤติกรรมแบบใดก็ตาม ก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอและชอบธรรมแล้วที่จะบอกว่าพฤติกรรมเหล่านั้นถือเป็นภัยคุกคามต่อศีลธรรมอันดีของสังคม ซึ่งควรต้องออกกฎหมายมาเพื่อจำกัดหรือห้ามปราม แม้พฤติกรรมเหล่านั้นจะไม่ได้ส่งผลกระทบหรือมาล่วงละเมิดใครโดยตรงก็ตาม เพราะมันแปลว่าพฤติกรรมเหล่านั้นมันช่างเลวร้ายในตัวของมันเอง ถึงขนาดที่เพียงแค่การมีอยู่ของมันก็สามารถทำให้รู้สึกถูกละเมิด (ขยะแขยง) ได้แล้ว
ขณะที่ Kass เห็นว่าความรู้สึกขยะแขยงของมนุษย์เป็นสัญญาณที่คอยเตือนให้มนุษย์หนีห่างจากภยันอันตรายต่อตนเอง เป็นอารมณ์ตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ถูกออกแบบมาให้ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ เพื่อแยกแยะว่าอะไรที่ดีหรือไม่ดี ด้วยเหตุนี้แหละมันจึงสมเหตุสมผลพอและชอบธรรมต่อการออกกฎหมายมาแทรกแซงเสรีภาพ
สำหรับฐานคิดเช่นนี้ การออกกฎหมายเพื่อขยายสิทธิเสรีภาพของเกย์จึงยิ่งสั่นคลอนและคุกคามต่อระบบศีลธรรมอันดีของสังคม อีกทั้งยังขัดแย้งต่อความรู้สึกอันธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งที่ควรกระทำเพื่อปกป้องสังคม คือการออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและพฤติกรรมทางเพศของพวกเกย์ และหากฝ่าฝืนก็ควรมีบทลงโทษเสียเลย
โอ๊ยยยย ได้ยินแล้วขึ้นเลย !!! แต่ใจเย็น อย่าเพิ่งฟาด โปรดติดตามตอนต่อไป…………..
อ้างอิง: Martha C. Nussbaum, From Disgust to Humanity: Sexual Orientation and Constitutional Law (Oxford, Oxford University Press, 2010).