โดย ปกป้อง ชานันท์ ยอดหงษ์

ท่ามกลางการโอกาสที่แตกต่างกันในการเข้าถึงเข้าถึงทรัพยากรของอินเดีย ที่เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ไม่เพียงแต่สถานะทางเศรษฐกิจวัฒนธรรมวรรณะ หากแต่รวมทั้งเพศสภาพเพศวิถี กลุ่มหญิงข้ามเพศและกะเทยต่างตกอยู่ในสถานะที่แสนลำบาก เสรีภาพในการเลือกเพศสภาพเละเพศสรีระของพวกเธอบางคนต้องแลกด้วยคุณภาพชีวิตและครอบครัวที่เธอเกิดมา

เพราะรวมกันเอาอยู่แยกหมู่กะเทยตาย พวกเธอจึงต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยเป็นเพื่อนพึ่งพายามยากที่แท้จริง สร้างระบบครอบครัวและบ้านของพวกเธอขึ้นมาเอง เสมือนหลุมหลบภัย เช่นการรวมตัวเป็นกลุ่ม “ฮิจรา” (Hijra) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมโบราณนานมาของเอเชียใต้ ใช้เรียกเพศบุคคลที่ไม่ใช่ทั้งชายและหญิง และไม่ใช่รักเพศเดียวกันหรือต่างเพศแบบบรรทัดฐานเพศวิถีตะวันตก แต่ใช้เรียกผู้ที่ตัดอวัยวะเพศชายออกแล้วไว้ผมยาวห่มสาหรีนุ่งชุดสตรี ซึ่งก็ทำให้พวกเธอไม่สามารถจัดวางไว้ในวรรณะใดได้ ฮิจราอยู่รวมกันเป็นชุมชนในบ้านเดียวกันมีการจัดระเบียบลำดับอาวุโสกันภายใน “ครอบครัว” และการ “เจื๋อน” นั้นก็ทำกันเองตามขนบความเชื่อดั้งเดิมในหมู่ฮิจรา ใช้หมอตำแยฮิจราด้วยกัน สวดมนต์ สมุนไพร และอุปกรณ์ DIY

เชื่อกันว่าฮิจราเป็นผู้บำเพ็ญตบะ สละทางโลกย์แล้วและรักษาพรหมจรรย์เพื่ออุทิศตนให้พระเจ้า แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าไม่มีใครทำได้หรอก เป็นเพียงความเชื่อและอุดมคติใช้อ้างเพื่อให้พวกเธอเสมือนบุคคลศักดิ์สิทธิ์ เป็นเจ้าพิธีประกอบพิธีกรรมได้ มีวาจาสิทธิ์สาปหรืออวยพรใครแล้วจะเป็นไปตามนั้น ได้รับเชิญให้มาร้องรำทำเพลงและอวยพรทารกแรกเกิดและพิธีมงคลสมรส แต่อันที่จริงพวกเธอมีฐานะย่ำแย่ เป็นคนชายขอบ ถูกรังเกียจ ดำรงชีพด้วยการขอทาน กรรโชกทรัพย์ไม่งั้นแม่จะสาปแก และให้บริการทางเพศ 

ระบบฮิจรานั้นจึงก็ไม่เพียงพอที่จะสร้างอำนาจต่อรองหรือแก้ไขสังคมรังเกียจความหลากหลายทางเพศได้ ซ้ำร้ายทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงกว่าเดิม เพราะพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านเป็นฮิจรานั้น ไม่ถูกสุขอนามัยหรือปลอดภัยตามความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยและชุมชนกะเทยจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนในอินเดีย นอกเหนือจากการปกป้องสิทธิฮิจรา

Agniva Lahiri (22 สิงหาคม พ.ศ. 2522 – 20 กันยายน พ.ศ. 2559) เธอเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมด้านผู้หญิงข้ามเพศชาวอินเดียจากเมืองโกลกาตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก ประเทศอินเดีย (“โกลกาตา” หรือ “Kolkata” ก็คือเมือง “กัลกัตตา” “Calcutta” น่ะแหละ แต่เรียกโกลกาตา ตามภาษาเบงกอลซึ่งเป็นภาษาของท้องถิ่น ตามที่รณรงค์กันตั้งแต่พ.ศ. 2544 ของกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อลบล้างมรดกตกทอดจากจักรวรรดินิยมอังกฤษที่ไปเรียก “Kolkata” ว่า“Calcutta” ตอนมาล่าอาณานิคม) เธอเชื่อว่าเก้งกวางกะเลยอินเดียต้องได้รับสิทธิ สถานภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ รวมทั้งปัจจัยสี่ที่อยู่หลับนอน ด้วยการก่อตั้งและบริหารองค์กรพัฒนาเอกชน People Like Us (PLUS) เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับหญิงข้ามเพศเกย์กะเทย  

Agniva Lahiri เกิดในครอบครัวฐานะปานกลางของพ่อที่รับข้าราชการและแม่ผู้เป็นอาจารย์โรงเรียน เธอรู้ตั้งแต่เด็ก ๆ ละว่าเธอไม่ได้อยากจะมีเพศสรีระชายอย่างที่ติดตัวมาแต่เกิด เธอมีจิตใจและอารมณ์ความรู้สึก “แบบผู้หญิง ๆ” ซึ่งนั่นก็ทำให้เธอเรียนรู้อีกด้วยว่าโลกไม่เป็นมิตรกับสิ่งนี้ เธอมักใช้ผ้าขนหนูมาพันตัวเป็นเดรสและยืมเครื่องสำอางพี่สาวมาเล่น และก็ถูกคุณครูเพื่อนนักเรียนรังแกและเลือกปฏิบัติ รวมถึงปัญหากับครอบครัวและเครือญาติ และก็คล้าย ๆ กะเทยทั่วไปที่การศึกษาสูง ๆ น่าจะเป็นทางออกให้กับเธอที่จะถีบตัวเองขึ้นไปไม่ให้ใครมาดูถูกดูแคลน เมื่อเรียนจบปริญญาโทสาขาวรรณคดีเบงกาลีจาก University of Calcutta และสาขาสังคมวิทยาจาก Nagarjuna Universityจากนั้นเธอไปเรียนต่อที่ University of Melbourne 

สำหรับเธอ โชคดีที่บ้านไม่จน พ่อแม่สามารถส่งเสียเธอเรียนได้ในระดับนึง การศึกษาช่วยให้เธอสามารถหางานทำ ไม่ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง มีอิสรภาพทางการเงิน ขณะที่กะเทยส่วนใหญ่ในอินเดียมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ โดนไล่ออกจากบ้าน มีฐานะยากจน ไม่เข้าถึงการศึกษา และนั่นก็ทำให้งานดี ๆ ทำไม่ได้ แม้บางนางจะมีการศึกษาความรู้ระดับนึง แต่ด้วยเพศสภาพกะเทย ก็ทำให้พวกนางหางานทำไม่ได้ 

Agniva Lahiri บ่นว่ามันย้อนแย้งและแปลกมากที่ผู้หญิงสามารถสมัครงาน ทำงานได้ พวกเธอมี “ความเป็นหญิง” ก็สามารถทำงานได้เท่ากับผู้ชาย แต่เมื่อผู้ชายมี “ความเป็นหญิง” บ้างกลับทำงานนั้นไม่ได้ เธอกล่าวต่อไปอีกว่า หญิงข้ามเพศจึงไม่เหลือทางเลือกอื่นใดนอกจากไปเป็นฮิจรา ที่กลายเป็นทางเลือกเดียวเพื่อความอยู่รอด ประทังชีวิตด้วยการร้องเพลงเต้นรำตามงานพิธีเพื่อแลกเงินอันน้อยนิด 

เธอเริ่มก่อตั้ง People Like Us หรือ PLUS ขึ้นที่โกลกาตาอย่างไม่เป็นทางการในปี 2543 ก่อนที่จะได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในปี 2546 ด้วยจุดประสงค์ที่พยายามให้ครอบคลุมกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงให้มากที่สุด องค์กรเธอช่วยเหลือทั้งหญิงข้ามเพศและชายรักเพศเดียวกันที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทารุณกรรม ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกเลือกปฏิบัติเอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งบริการข้อมูล สนับสนุนการศึกษาวิจัย ป้องกัน ให้คำปรึกษาทั้งการแพทย์ สิทธิและกฎหมาย การฟื้นฟูให้กับผู้ที่อยู่ร่วมกับ HIV และยับยั้งการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นงานที่เยอะสิ่งมากและสะท้อนถึงปัญหาเกย์กะเทยที่ต้องเผชิญในอินเดีย 

PLUS ได้ขยายพื้นที่ทำงานใน 3 รัฐของอินเดีย ได้แก่ รัฐเบงกอลตะวันตก พิหาร และอุตตรประเทศ เธอใช้กลยุทธ์ในแบบประเทศที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำใช้กันคือการล็อบบี้ในระดับต่างๆ  ทั้งในรัฐบาล องค์กร พหุภาคีและเวทีระหว่างประเทศ และเชื่อมโยงสร้างเครือข่ายเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอื่น ๆ  

และเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า PLUS ของ Agniva Lahiri ยังได้ตั้งศูนย์พักพิง “Prothoma” จัดหาที่พักอาศัยพร้อมบริการ 24 ชั่วโมง ให้กับกะเทย-หญิงข้ามเพศที่ต้องประสบปัญหาความทุกข์ยาก ที่มักตกเป็นเหยื่อเหยื่อการค้ามนุษย์ ถูกทารุณกรรม ถูกบังคับย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปลอดภัยหรือในอีกความหมายนึงคือ ถูกไล่ออกจากบ้าน จัดการให้ที่พักอาศัยชั่วคราวเป็นระยะเวลา 15 วัน – 3 เดือน ตามความต้องการของพวกเธอ ซ้ำยังดูแลความปลอดภัยและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางของแต่ละคน

มากไปกว่านั้น Prothoma ยังให้คำปรึกษาฟื้นฟูเยียวยาทางจิตใจที่บอบช้ำ ขจัดความรู้สึกเกลียดชังตนเองโดยนักจิตวิทยาประยุกต์ประจำศูนย์ที่คอยปฏิบัติการ 5 วันต่อสัปดาห์ รวมทั้งช่วยเหลือปกป้องผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมกับเป็นที่ปรึกษาในการโต้ตอบเจรจากับตำรวจ

Agniva Lahiri ยังให้ PLUS ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการข้ามเพศเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเพศด้วยหลักปฏิบัติและเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ เทคฮอร์โมนที่ปลอดภัย แทนการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด การตัดอัณฑะหรือพิธีแบบฮิจรา แม้องค์กรของเธอจะไม่สามารถผ่าตัดจัดฮอร์โมนให้ได้ แต่ก็มีพันธมิตรเครือข่ายกับโรงพยาบาลและแพทย์ที่เหมาะสมปลอดภัย เพื่อให้มีเพศสรีระแบบผู้หญิงมากที่สุด

เธอกล่าวว่าอินเดียมีปัญหามากมายเกี่ยวกับฮิจรา เพราะนั่นไม่ใช่การแปลงเพศเป็นผู้หญิง ฮิจรายังคงมีสรีระร่างกายเป็นผู้ชาย มีเสียงใหญ่แบบผู้ชาย มีหนวดคราและขนหน้าอก แต่พวกนางรู้สึกว่าตนเป็นผู้หญิงและต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นสุภาพสตรี พยายามดิ้นรนเพื่อตัวตนที่เป็นผู้หญิง รัฐเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือตระหนักคุณค่าความเป็นประชากรของประเทศ

กลายเป็นอีกการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างหนึ่งของหญิงข้ามเพศหัวสมัยใหม่ ของคนรุ่นใหม่ ที่เห็นปัญหาโครงสร้างจากที่ผ่านมา แล้วปรารถนาอย่างไรกล้าที่จะแก้ไขในเชิงโครงสร้าง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตหญิงข้ามเพศรุ่นที่ผ่านมา ปัจจุบันและอนาคตด้วยกัน ด้วยสำนึกคิดสมัยใหม่แทนจารีตดั้งเดิม

Share this