
โดย ปกป้อง ชานันท์ ยอดหงษ์
เกย์กะเทยที่เคยใช้ชีวิตช่วงทศวรรษ 1970’s – 80 ‘s ยุคนั้นคงไม่มีใครไม่รู้จัก เกย์กะเทยที่ชื่อ “ปาน บุนนาค” นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ “สาวสังคม” ที่รักสนุกชอบไปคลุกตามผับตามบาร์ และเซเลบที่มักปรากฎตัวตามสื่อสาธารณะ เธอประกาศเสมอว่า เป็นผู้ชายแต่จิตใจเป็นผู้หญิง และเพศสภาพนี้แหละที่กลายเป็นคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นในยุคสมัยนั้น จนถูกเรียกว่า “เกย์ยุคบุกเบิก” 1 ซึ่งเธอก็ได้หอบประสบการณ์ชีวิตและสังคมเกย์กะเทยของเธอเผยแพร่เปิดเผยอย่างฉะฉาน จนแวดวงเกย์การยกย่องให้เป็น “เกย์รุ่นปรมาจารย์” 2 ให้ความรู้เกี่ยวกับเกย์ กะเทย ตามประสบการณ์ตามความเข้าใจที่แสวงหาแลกเปลี่ยนกันเองภายในชุมชนทั้งสถานที่พบปะสังสรรค์และนิตยสารเฉพาะกลุ่ม กลายเป็นภาพสะท้อนความเข้าใจความหลากหลายทางเพศแห่งยุคสมัยนั้นทั้งในและนอกชุมชนเกย์กะเทย ที่มีโครงสร้างแบ่งเป็นขั้วตรงข้าม (Binary opposition) ชาย-หญิง กาย-จิต
เหมือนประสบการณ์เจ้าของคอกหมาเธอเขียนคอลัมน์ “คนรักหมา” บอกเล่าประสบการณ์เลี้ยงหมาลงนิตยสารสตรีชื่อดัง “ลลนา” ชื่อเสียงของเธอทำให้มีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตเป็นลายลักษณ์อักษรลงนิตยสารต่าง ๆ ในยุคเฟื่องฟูของสิ่งพิมพ์ ปานนำประสบการณ์รักและใคร่อันมากล้นมาเป็นเรื่องราวในคอลัมน์ “มายาสีม่วง”ในนิตยสารเกย์ MIDWAY ฉบับปฐมฤกษ์ ในปี 2529 ถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจของเธอต่อการเป็นเกย์เพื่อประกาศให้สังคมได้รับรู้ชีวิต ขณะเดียวกันก็เพื่อให้คนในชุมชนของเธอเข้าใจตนเองและซึ่งกันและกัน ก็รวมเล่มจากคอลัมน์ของเธอในนิตยสาร “ฉงน” ก่อนจะรวมเล่มเป็นหนังสือ “เหตุไฉนถึงต้องเป็นเกย์”
เนื่องจากปานเองก็เป็นนักรักตัวยง เธอ “ทำรัก” ครั้งแรกเมื่ออายุ 13 ขวบกับรุ่นพี่รุ่นน้อง เธอระลึกถึงความหลังว่า แม้จะเจ็บแต่ติดใจ3 เคยมีชายคนรักเป็นสจ๊วตการบินไทย คบหาดาราหนุ่มและโดมอนแมน (“Domon Man” หมายถึงดารานายแบบจากเวทีประกวด Domon Man ที่ถือว่าเป็นเวทีแรกที่มีการจัดประกวดหนุ่มหล่อในประเทศไทยป้อนดารานายแบบจำนวนมากสู่วงการ เวที Domon Man เริ่มประกวดครั้งแรกเมื่อปี 2529 เป็นยุทธศาสตร์การตลาดของห้องเสื้อเครื่องแต่งกายชายสัญชาติไทยชื่อดัง “Domon” ที่เริ่มปรากฎตัวในวงการแฟชั่นตั้งแต่ปี 2521 หนุ่มโดมอนแมนคนแรกคือ สถาพร นาควิลัย เมื่อเกิดวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เวทีประกวดจึงยุติลง) ถือได้ว่าเป็นชายหนุ่มตัวท๊อปของวงการเกย์ เธอกล้าเปิดเผยให้สัมภาษณ์ชีวิตรักอันโชกโชน ชายหนุ่มเข้าหาเธอจำนวนมาก บางคนรักเธอด้วยใจจริง บางคนหวังประโยชน์จากเธอ ใช้ความสัมพันธ์เป็นเครื่องมือไถเงิน บางคนเพียงเพื่อต้องการเธอช่วยปั้นให้เป็นนายแบบดารา
เธอก็เคยได้กับผู้หญิงนะ แต่เป็นเชิงทดลอง เธอให้สัมภาษณ์นิตยสารเกย์แบบนั้น อย่างไรก็ตามเธอชอบผู้ชายตี๋ ๆ ผิวเรียบเนียนไร้ขน เนื่องจากเธอเองมีขนดกต้องกำจัดอยู่เสมอ ๆ เธอกล่าวว่า ในเมื่อเธอกำจัดขนตัวเองแล้วยังต้องมาเจอขนอีกหรือต้องช่วยคู่ของเธอกำจัดขนอีกหรอ4
ความโด่งดังในฐานะเกยกะเทยแห่งยุคสมัยนั้น ก็ทำให้เธอถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงยุคมืดแห่งวงการสื่อสารมวลชนและนักหนังสือพิมพ์ เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงรัฐบาลเผด็จการพลเรือนขวาจัด เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ (ตุลาคมปี 2519 – ตุลาคมปี 2520) ที่มาจากการรัฐประหาร เขาใช้ข้อหาคอมมิวนิสต์ปราบปรามประชาชนจำนวนมาก จำกัดสิทธิเสรีภาพการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็น สั่งปิดหนังสือพิมพ์ และเนื่องจากมาตรการไม่ให้ลงข่าวการเมือง เธอจึงถูกนำมาเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์แทนว่าประกาศรับสมัครผู้หญิงเพื่อมีลูก โดยที่เธอไม่รู้เรื่องมาก่อน มีโทรศัพท์ติดต่อเธอจำนวนมากจนต้องยกหูโทรศัพท์ออกครึ่งเดือน บางคนเดินทางมาจากจังหวัดอื่น มาที่ร้านเพื่อให้เธอเป็นสามี เธอปฏิเสธตลอดเพราะเธอเป็นคนมีชื่อเสียง กลัวว่าลูกที่เกิดมาจะถูกสังคมนินทาว่าร้าย โดยเฉพาะเมื่อเธอส่งลูกไปโรงเรียน เธอรู้ฤทธิ์เดชปากของครูบาอาจารย์ดี ถ้ามีลูก ลูกเธอก็คงโดนครูพูดให้อับอาย โดนเพื่อนล้อ จนเสียสุขภาพจิต
เนื่องจากโลกของกะเทย ชายรักชาย หญิงรักหญิง ยังไม่เคยมีวัฒนธรรม โครงสร้างสังคม ทรัพยากรมารองรับเพศสภาพเพศวิถีที่เริ่มปรากฎตัวมากขึ้นตามความซับซ้อนของสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ บรรดาเกย์กะเทยจึงต้องมะงุมมะงาหราแสวงหาความรู้และนิยามตัวตนจากประสบการณ์ของเธอเองและชุมชนที่มารวมตัวกัน เพื่อทำความเข้าใจตนเอง และสร้างอัตลักษณ์ชุมชนเครือข่ายร่วมระหว่างพวกเดียวกัน มันจึงเป็นการนิยามเพศสภาพเพศวิถีจากพื้นฐานประสบการณ์ของพวกเธอเอง เป็นอีก “ชุดความจริง” ที่บางครั้งก็ตีความ เหมารวมและจัดระเบียบความรู้กันเอาเองจากประสบการณ์ในระดับปัจเจก ซึ่งบางครั้งก็อาจจะเป็นมายาคติและการสร้างภาพตัวแทนที่มีการเลือกคัดสรรลักษณะบางประการเท่านั้น
จากที่ปานให้สัมภาษณ์นิตยสารเกย์ เธอเชื่อและผลิตชุดความเข้าใจว่า เกย์กะเทยลีลาแซ่บกว่าผู้หญิง ผู้ชายบางคนก็มักมามีเพศสัมพันธ์ด้วยแล้วก็กลับบ้านไปอยู่กับภรรยา หรือไปเที่ยวผู้หญิงต่อ และจากการที่ปาน “ออฟฟ์” เด็กจากบาร์หลายต่อหลายครั้ง ทำให้เธอรู้ว่าผู้ชายหลายคนไม่ชอบที่เป็นฝ่ายรับไม่ใช่แค่เจ็บแต่รู้สึกเสียงศักดิ์ศรีเชิงชาย แต่ก็ยินยอมเพราะต้องการเงิน ต้องการเรียนหนังสือ มีภาระต้องดูแลทั้งตัวเองและรับผิดชอบครอบครัว บางคนก็เมื่อคุ้นชินไปกับเซ็กซ์กับเพศเดียวกันแล้ว และกลายเป็นว่ามีความสุขทางเพศกับเพศเดียวกันมากกว่า
ไม่เพียงสร้างศัพท์เฉพาะที่ใช้กันในชุมชนเช่น เรียกกะเทยว่า “อีกอ” “กอแก้ว” อันมาจาก พยัญชนะแรกของคำว่า “กะเทย” กลุ่มเกย์กะเทยแห่งยุคนั้นยังผลิตซ้ำคำนิยามชายรักเพศเดียวกันตามพฤติกรรมการปกปิด-แสดงออกผกผันไปกับปฏิสังสรรค์กับเพศหญิง “แอบจิต” คือปกปิดไม่แสดงออก ทำตัวเหมือนผู้ชายทั่วไป “สว่างจิต”หมายถึงเกย์ที่เปิดเผยตัวไม่ว่าอยู่กับเพศใดก็แสดงออก และ “สลัวจิต”คือจะแมนๆเมื่อต่อหน้าผู้หญิง แต่จะสาวแตกเมื่ออยู่กับเพื่อน ๆ เกย์ด้วยกัน ซึ่งเป็นการนิยามที่เกย์กะเทยในชุมชนนิยมใช้กัน ซึ่งบรรดาสว่างจิตและสลัวจิตมักจะจิกกัดกระแหนะกระแหนแอบติตเสมอ ๆ
มากไปกว่านั้น ปานเองก็ใช้ประสบการณ์ของเธอ อธิบายเพศสภาพเพศวิถีว่า วิถีชีวิตคนรักเพศเดียวกันและกะเทยนั้น มันต้องแรดมันต้องร่าน มีเรื่องเซ็กซ์เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ มีเซ็กซ์กันง่ายดาย ครั้งหนึ่งเธอให้สัมภาษณ์กับนิตยสารมิถุนาว่า
“มันไม่แปลกหรอกเพราะว่าชีวิตเกย์ มันต้องอย่างงี้ คือพี่เป็นโรคอย่างนี้อยู่อย่าง ถ้าพี่รักใครแล้วเค้าเข้าใจพี่นะ พี่ไปนอนกับใครแล้วกลับมานอนกับแฟนนะ โอ้โฮรอบนี้จะสนุกมากเลย มันมีฟิลลิ่งน่ะไม่งั้นมันตาย ฟิลลิ่งมันตายมันไม่มีอะไรมาจุดชนวน”5
อย่างไรก็ตาม นั่นก็เป็นบทสัมภาษณ์ในบริบทของนิตยสารโป๊เพื่อเกย์ที่มุ่งนำเสนอเรื่องเซ็กซ์ เจาะกลุ่มเพศวิถีโดยเฉพาะ ภายในเล่มจึงมีทั้งภาพถ่ายแบบนู้ด ประสบการณ์เรื่องเพศ นิยายสยิว โฆษณาวิดิโอโป๊และเกย์บาร์
มากไปกว่านั้น ปานเองก็อธิบายความแตกต่างทางเพศที่เป็นการสร้างภาพเหมารวมว่า เกย์กะเทยมีศิลปะทำรักมากกว่า เรียนรู้เรื่องเซ็กซ์เร็วกว่า ผู้ชายจึงติดอกติดใจเกย์กะเทยมากกว่าผู้หญิง แถมยังเองก็เอาอกเอาใจเก่งกว่า ขณะที่ผู้หญิงกระมิดกระเมี้ยนเรื่องเพศ ไร้ลีลาไม่จู่โจม ผู้ชายบางคนจึงเริ่มรู้สึกว่า เกย์จึงทำให้ถึงใจได้มากกว่า จึงชอบเอาเพศสภาพเพศวิถีนี้มากกว่าผู้หญิง ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นชุดอธิบายที่แฝงไปด้วยมายาคติที่ชุมชนเกย์กะเทยสร้างขึ้นมา เพื่ออธิบายความแตกต่างระหว่างพวกเขาและเธอกับผู้หญิง อย่างไรก็ตามมันก็สะท้อนถึงโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ที่มักสอนให้ผู้หญิงเชื่อและปฏิบัติตามว่าต้องรักนวลสงวนตัว เหนียมอายเรื่องเพศ ต้องไม่แสดงออกถึงความใคร่ และคอยตอบสนองความต้องการทางเพศและความใคร่ของผู้ชาย พวกเธอไม่มีความใคร่เป็นของตัวเธอเอง
ไม่ว่ากะเทย ชายรักเพศเดียวกัน หรือแม้แต่หญิงชายรักต่างเพศ ต่างก็ตกอยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมเดียวกันที่ได้สร้างกลไกเงื่อนไขบางประการที่ไม่ว่าเพศสภาพเพศวิถีใดก็ต้องแบกรับ สถานะผู้ถูกสอดใส่ถูกจัดวางในสถานะผู้หญิงและ “ความเป็นหญิง” การถูกสอดใส่ของผู้ชายเท่ากับสูญเสีย “ความเป็นชาย” ที่ต้องหลีกเลี่ยง เช่นเดียวกับที่ผู้ชายจะไม่สวมเครื่องแต่งกายสุภาพสตรี เพราะสังคมจัดช่วงชั้นให้ “ความเป็นชาย” มีคุณค่าความสำคัญเหนือกว่า “ความเป็นหญิง” ผู้หญิง กะเทย เกย์ จึงมีคุณค่ารองลงมาจากผู้ชายที่ต้องรองรับบำบัดความใคร่ของผู้ชาย ผู้ชายจึงเอาตูดเกย์กะเทย หรือให้เขาหรือเธอดูดให้ ปานเล่าว่าเวลาเอาก็เป็นฝ่ายรับไม่เคยรุก ยกขาให้ตลอดไม่งั้นก็คว่ำหน้า ผู้ชายเองก็ไม่อยากโดนอวัยวะเพศชายด้วยกัน เวลานอนหงานปานจึงต้องเอาผ้ามาปิดอวัยวะเพศตัวเองในบางครั้ง หากกะเทยขืนเป็นฝ่ายรุกผู้ชายโดนผู้ชายไล่เตะ6
เช่นเดียวกับประสบการณ์ความรักของเธอ ในโลกรักต่างเพศนิยม (heterosexist) แม้จะเป็นนักรักแห่งยุค แต่เธอเองก็ช้ำรักบ่อยครั้ง และปานก็มักเล่าสู่กันฟังผ่านคอลัมน์ในนิตยสารเกย์ ซึ่งสอดคล้องไปกับมายาคติที่มีต่อกะเทยและคนรักเพศเดียวกันว่าไม่มีทางสมหวังในความรัก มักมีชีวิตที่โศกเศร้าผิดหวัง เพราะ “ไม่มีรักแท้ในหมู่เกย์” อันเนื่องมาจากเป็นรักที่นอกธรรมนองครองธรรมและธรรมชาติ ที่มักอธิบายว่ามนุษย์ผู้ชายก็ต้องย่อมคู่กับผู้หญิง ไม่ใช่เพศเดียวกัน
ปานเล่าว่า เธอเคยขมขื่นถึงกับฆ่าตัวตายด้วยการกินยา เคยส่งเสียชายคนรักเรียนหนังสือแต่เขาก็ทรยศไปอยู่กินกับหญิงที่เรียนโรงเรียนเดียวกัน ปานโกรธแค้นถึงกับซื้อปืนเถื่อนไปไล่ยิงไปถึงทั้งบ้านผู้ชายและหญิงชู้รักคนนั้น จนทั้งคู่ต้องหนีไปอาศัยที่ภาคใต้ ปานอกหักหลายครั้งเป็นเพราะชายคนรักของเธอไปมีครอบครัว ไปรักกับผู้หญิงตามค่านิยมกระแสหลักที่เป็นรักต่างเพศนิยม ที่ยังเชื่อว่าความรักความใคร่ระหว่างเพศเดียวกันผิดธรรมชาติจึงไม่สามารถครองรักกันได้ยาวนาน สำหรับปานเธอกล่าวว่า
“คือจะยังไงก็ตามปานก็รู้เหมือนกันว่าสักวันหนึ่งเขาก็จะต้องถูกธรรมชาติแย่งชิงไป เพราะผู้ชายก็คือผู้ชาย เมื่อเขากินเหล้าเมาแล้วเขาก็ต้องไปเที่ยวผู้หญิง มันเป็นธรรมชาติของผู้ชาย ผู้ชายทุกคนก็จะต้องเป็นอย่างนี้” 7
แต่ถึงกระนั้นเธอในวัย 46 ปีได้ทิ้งท้ายไว้ว่า
“ถึงจะอกหักกี่ครั้ง ๆ ปานก็ยังไม่เข็ดหลาบหรอก ก็ยังจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ แม้ในบั้นปลายชีวิตก็คิดว่าจะเป็นอย่างนี้”
1 กองบรรณาธิการ. ปาน บุนนาค. มิถุนา ปีที่ 2 ฉบับที่ 24 หน้า 101.
2 เก็บตกนานาทัศนะหนังเกย์เรื่องแรกของเมืองไทย. มิถุนา ปีที่ 2 ฉบับที่ 24 หน้า 42.
3 มะตาหะรี. เรื่อง…ชีวิตเซ็กของคนดัง. มิถุนา ปีที่ 2 ฉบับที่ 27 (2528) หน้า 43-45.
4 เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
5 กองบรรณาธิการ. ปาน บุนนาค. มิถุนา ปีที่ 2 ฉบับที่ 24 หน้า 105.
6 ตำนานดอกไม้เรืองแสงของปาน บุนนาค. นีออน ปีที่ 2 ฉบับที่ 18 (2529) หน้า 81.
7 ก้นครัวคนดัง ปาน บุนนาค. มติชน ปีที่ 9 ฉบับที่ 2884 (26 มกราคม 29) หน้า 7.