LIKE A PRAYER | ปาน บุนนาค : เพศของเธอแยกไม่ออกไปจากประวัติศาสตร์สังคม (ตอนที่ 1)

โดย ปกป้อง ชานันท์ ยอดหงษ์

ในอดีตที่ความหมายเพศสภาพเกย์และกะเทยยังถูกใช้เหลื่อมซ้อนกัน และพวกเขาและเธอต้องเผยร่างพรางกายแบบลักปิดลักเปิด น้อยคนนักที่จะกล้าหาญชาญชัยเปิดเผยตัวตนรสนิยมของตนเองบนที่สาธารณะ ประกาศกร้าวอย่างฉะฉานว่าฉันชอบเพศเดียวกันหรือฉันเป็นผู้หญิงในเพศสรีระชาย แต่ปาน บุนนาค คือหนึ่งในนั้นของยุค เธอจึงเป็นที่รู้จักของสังคมทั้งในและนอกชุมชนเกย์กะเทยช่วง 70’s – 80’s เปรียบเสมือนดาวดวงเล็ก ๆ กระพริบแสงรำไรในคืนฟ้าปิด

ปาน บุนนาคเกิดเมื่อวันที่ 16 เมษายนปี 2485 ในครอบครัวขุนนางในรั้วในวัง เธอเป็นลูกของพระยาชัยสุรินทร์ (ตาล บุนนาค) อดีตอธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมบัญชีกลางปลัดกระทรวงการคลัง และประธานสลากกินแบ่ง เป็นชนชั้นนำในยุคก่อนสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม่ของปาน คุณหญิงสาลี่ เป็นข้าหลวงผู้หนึ่ง ป้าของปานเป็นเจ้าจอมหม่อมห้าม ปานภาคภูมิใจอย่างมากกับการเกิดในครอบครัวผู้ดีชนชั้นนำตามแบบฉบับค่านิยมในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตระกูล “บุนนาค” ซึ่งเป็นตระกูลเก่าแก่ของอำมาตย์ที่เรืองอำนาจที่สุดในยุคศักดินาราชาธิปไตยก่อนเข้าสู่การเมืองสมัยใหม่ และมักใช้พื้นฐานฐานะทางสังคมเศรษฐกิจนี้เป็นข้อโต้แย้งมายาคติสังคม homophobic ในขณะนั้นว่า คนรักเพศเดียวกันหรือกะเทยเกิดจากครอบครัวที่มีปัญหา แม้ว่าปัญหาครอบครัวไม่ใช่สมการที่เท่ากับสถานะชนชั้นเสมอไป

 เธอเคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์มติชนว่า ตั้งแต่จำความได้เธอก็มีนิสัยความ ชอบแบบผู้หญิงแล้วมักเล่นขายข้าวแกง ขายขนมครก เล่นตุ๊กตา และชอบเอาผ้าถุงคนใช้มานุ่ง แม้ว่าพ่อแม่จะซื้อรถ เรือบิน ของเล่นเด็กผู้ชายมาให้เล่น เธอก็เอาไปซ่อน

“คือตอนเด็ก ๆ เราก็ชอบนุ่งผ้าถุงชอบเล่นขายข้าวขายแกง คุณแม่ก็ตีนะ แต่ปานก็ยังแอบเล่น คุณแม่ซื้อปืน รถถังและของเล่นสำหรับผู้ชายมาให้เยอะแยะเลย แต่ปานก็โยนทิ้งหมด ไม่ชอบ ไม่สนใจ ชอบเล่นขายข้าวแกงมากกว่า”

“สำหรับเรื่องนี้คุณพ่อผมท่านไม่ว่าอะไรนะ ท่านเป็นคนน่ารัก รักครอบครัว รักลูก คุณพ่อผมท่านเป็นนักเรียนอังกฤษ เป็นพ่อสมัยใหม่มีเหตุผล ไม่ว่าในเรื่องนี้เลย ท่านเคยถามด้วยซ้ำไปว่า นี่ปานแกจะแต่งงานเอาผู้หญิงหรือผู้ชายวะ เออถ้าแกจะเอาผู้หญิงพ่อจะหาให้ แต่ถ้าแกจะเอาผู้ชายแกหาเอง และหาให้ดี ๆ นะ ไม่ว่าอะไรหรอก…”

พ่อของเธออดทนยอมรับเพศสภาพเพศวิถีของเธอได้ ต่างจากคุณหญิงสาลี่ผู้เป็นแม่

“…คุณแม่ผมท่านไม่ได้ ท่านไม่ยอม คุณแม่กรี๊ดใส่ ท่านไม่เคยยอมมาตลอดชีวิต…อย่างผมออกทีวี ก็ไม่เคยดู สัมภาษณ์ก็ไม่เคยอ่าน แม่ไม่ชอบ ไม่ปลื้มด้วย แม่เป็นชาววัง แม่ทนไม่ได้ที่จะให้ลูกเป็นอย่างนี้ แม่ชอบชี้ทางเดินให้ลูกในขณะที่คุณพ่อไม่เคยเลย”

ปานไม่เพียงประกาศตัวมาตลอดว่าเธอเป็นผู้หญิง เธอยังประกาศด้วยว่าเธอรักพ่อมากกว่าแม่

ปานเริ่มเรียนระดับอนุบาลจากโรงเรียนราชินีบน เรียนโรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล โรงเรียนวัดบวรนิเวศ และวิชาเลขานุการที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข แล้วเรียนคณะบัญชีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะไม่ใช่ทางที่เธอชอบแต่เธอก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตอิสระทางเพศ

“สมัยเรียนที่ธรรมศาสตร์ปานก็มีเพื่อนเป็นกะเทยเยอะเลย แต่งตัวเป็นผู้หญิงก็เคยแต่ง แต่ตอนหลังก็เลิก เพราะแต่งแล้วไม่สวย ไม่เหมือนผู้หญิง อีกอย่างคือเวลาแต่งเป็นผู้หญิงแล้วผู้ชายไม่กล้าเดินด้วย เขาอายเราก็เลยหันมาแต่งแบบผู้ชายดีกว่า และก็แต่งแบบผู้ชายมาเรื่อย และไม่คิดจะแต่งเป็นผู้หญิงหรอก”

เมื่อเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้ 3 ปีก็ออกไปเรียนเสริมสวยที่เป็นความชื่นชอบตั้งแต่ยังเยาว์วัยที่โรงเรียนเสริมสวยศรีจันทรา และด้วยการสนับสนุนจากหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตร์แจรง อาภากร ธิดากรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในด้านเอกสารไปเรียนต่างประเทศ ปานจึงมีโอกาสพัฒนาฝีมือไปเรียนต่อด้านเสริมสวยในทั้งฝรั่งเศส อเมริกา และญี่ปุ่น เมื่อเรียนจบปานก็กลับมาเป็นอาจารย์ในสถาบันวิชาจัดแต่งทรงผมต่าง ๆ เช่น โรงเรียนศรีจันทรา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเธอก็เป็นศิษย์เก่าที่นั่น เมื่อโรงเรียนเกศสยามที่ถือว่าเป็นสถาบันสำคัญในวงการเสริมสวยได้ก่อตั้งขึ้น เธอก็มาเป็นอาจารย์ประจำที่นั่นเป็นเวลา 18 ปี 

ปานออกมาปิดร้านเสริมสวยเองตั้งชื่อว่า “ปาน” ที่สยามเซ็นเตอร์และได้กลายเป็นช่างเสริมสวยที่โด่งดังมากแห่งยุคสมัย ลูกค้าของเธอเป็นไฮโซในเมืองหลวง ต่อมาเธอย้ายร้านมาย่านประดิพัทธ์ ซึ่งเป็นย่านเมืองใหม่ ที่ความเป็นเมืองเริ่มขยายเป็นย่าน ๆ ในกรุงเทพ ชั้นบนของร้านเสริมสวย เปิดเกย์บาร์เล็ก ๆ เป็นคอกเทลเลาจน์ชื่อ “BACK DOOR” ตั้งแต่ 2526

บาร์ “Back Door” ที่ตั้งชื่อล้อ “ประตูหลัง” ไม่เพียงเปิดโอกาสให้เธอได้ “ทำความรู้จัก” ชายหนุ่มมากหน้าหลายตา เพราะเธอคัดบริกรด้วยตัวเธอเอง แต่ยังกลายเป็นพื้นที่ให้เพื่อน ๆ ของเธอที่มีเพศสภาพเดียวกันได้พบปะสังสรรค์ เป็นชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องราวของเกย์วัยต่าง ๆ และหลุมหลบภัยจากโลกรักต่างเพศนิยมภายนอก 

ปานไม่ค่อยมีเวลาให้กับธุรกิจเกย์บาร์มากนักจึงให้แฟนหนุ่มของเธอเป็นผู้จัดการ แต่เธอทุ่มเทกับธุรกิจที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้เธอมากกว่า ปานออกแบบผลิตแฮร์พีซขายและขยายเป็นโรงงาน เป็นเจ้าของธุรกิจคอกสุนัข ขาย Poodle, Chihuahua, Pomeranian, Bulldog เธอเลี้ยงน้องเป็นอย่างดีและมักพาไปประกวดจนได้รับรางวัลเสมอ เล่าลือกันว่าเธอเลี้ยงด้วยเนื้อบด ไก่ นมผง ชีส กล้วยน้ำว้า รังผึ้งผสมน้ำผึ้ง วันละ 3 มื้อ เธอกล่าวว่า มันเริ่มมาจากตอนอายุ 12-13 ปี ที่เธอมักจะแอบเอาสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในวัง ออกไปขายที่ตลาดนัดสนามหลวง และเนื่องจากติดนิสัยรักสุนัขมาจากพ่อ เธอจึงหันมาทำธุรกิจผสมพันธุ์หมา ทั้งโรงงานแฮร์พีซและฟาร์หมาเล็ก สามารถสร้างรายได้ให้เธอมหาศาลจนสามารถสร้างบ้านด้วยราคา 2 ล้านกว่าและซื้อรถ BMW ได้ 

ท่ามกลางความจำกัดจำเขี่ยอาชีพสำหรับกะเทยและผู้ชายออกสาว โชคดีกว่าเพื่อนที่เธอเกิดมาในครอบครัวผู้ดีจึงได้เปรียบกว่าตั้งแต่เริ่มต้นลงทุน อย่างไรก็ตามเธอก็ดิ้นรนต่อสู้ด้วยความมานะบากบั่น ประกอบธุรกิจจนประสบผลสำเร็จร่ำรวยและมีชื่อเสียงโด่งดัง ทั้งนี้เพราะปานหลีกหนีจากการดูถูกดูแคลนจากคนรอบข้าง แสวงหาการยอมรับจากครอบครัว พิสูจน์ตนเองว่ากะเทยก็สามารถมีที่ยืนในสังคม พี่น้องของปานโดยเฉพาะพี่น้องต่างแม่มักแสดงท่าทีรังเกียจพูดจาเสียดสีและอับอายที่มีน้องอย่างปาน เธอเคยถูกพี่สาวด่าว่าเป็นกะเทยก็ต้องไปขายตูดที่สะพานพุทธ

เธอประกาศตัวเป็นกะเทย แต่งหญิงและปรุงแต่งสรีระให้คล้ายผู้หญิง ด้วยการไปฉีดเสริมหน้าอกและก้นมาเท่าที่ศัลยกรรมความงามในยุคสมัยนั้นจะอำนวยได้ และก็เหมือนชีวิตกะเทยทั่ว ๆ ไป ที่บ้านไม่ยอมรับ เธอจึงไปเช่าบ้านหารกับเพื่อนกะเทยด้วยกัน ทำเป็นห้องแต่งหญิงก่อนจะออกไปสังสรรค์หรือหาผู้ชายแถวสะพานมัฆวานรังสรรค์หรือสนามหลวง เธอไม่เพียงเปรียบการแต่งหญิงเสมือนการแต่ง “เครื่องแบบ” เพื่อยืนยันและภาคภูมิใจในเพศสภาพของตนเอง ยังรวบรวมเพื่อน ๆ กะเทยแต่งหญิงตั้งคณะแฟชั่นโชว์ชื่อ “คณะดิออร์” เดินแบบตามงามสังคม วันหนึ่งเดินงาน 3-4 งาน ยิ่งในช่วงเทศกาลคณะของเธอเดินสายโชว์ทั้งวันทั้งคืน 

เพื่อลบคำสบประมาทจากคนรอบข้าง เธอเธอจึงดิ้นรนสร้างรายได้ ขวนขวายใฝ่หาความรู้วิชาชีพจนเป็นช่างทำผมที่โด่งดัง เธอยกระดับตนเองด้วยการแต่งกาย อาชีพหน้าที่การงาน หารายได้ให้มาก ๆ ความที่เธอปลูกบ้านใหญ่โตและชอบสะสมทองและประดับไปทั่วเรือนกาย ก็เพื่อประกาศความสำเร็จที่ กว่าพ่อแม่ของเธอจะเริ่มยอมรับมากขึ้นก็เมื่อเธอเป็นช่างทำผมที่โด่งดัง แต่พี่น้องของเธอก็ยังคงดูแคลนอยู่

 และเมื่อพระยาชัยสุรินทร์เสียชีวิต เธอก็แต่งหญิงในงานศพพ่อ ทำหน้าที่ต้อนรับแขกเหรื่อคนดัง ตั้งใจแต่งประชันนางงามที่มาร่วมงานอย่างสุภัค ลิขิตกุลและอาภัสรา หงสกุล และเพื่อท้าทายพี่น้องที่รังเกียจกะเทย กีดกันไม่ให้เธอร่วมกิจกรรมครอบครัว และชอบบอกกับเธอต่อหน้าว่าอายคนอื่นที่มีน้องเป็นกะเทย จนเมื่อฌาปนกิจพ่อเธอเสร็จเธอก็ตัดผมสั้นแล้วแต่งบอย เปลี่ยนจากกะเทยเป็นเกย์ในปี 2516 เพราะเธอเริ่มรู้สึกเบื่อและมานั่งสังเกตว่าไม่แต่งหญิงก็หาผู้ชายได้ บางครั้งแต่งหญิงแล้วผู้ชายไม่กล้าเดินด้วย 

ปานถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีทักษะในการการเอาตัวรอดสูงและแสวงหาที่ทางทำมาหากินเสมอ ๆ แถมยังประสบผลสำเร็จด้วยสิ พอเมื่อเศรษฐกิจซบเซาฝืดเคือง ธุรกิจเกย์บาร์ของเธอก็พลอยซบเซา เธอจึงเปลี่ยน Back Door ของเธอเป็น Pan Modelling ส่งเด็กชายหน้าตารูปร่างดีไปถ่ายแบบโฆษณา เดินแบบ แสดงหนังละคร เธอกลายเป็นนักปั้นมือทองอีกคนที่สร้างดาราให้กับวงการบันเทิง

เนื่องจากในช่วงเวลานั้นเกย์กะเทยถูกต่อต้านจากสังคม แต่ปานโนสนโนแคร์ต่อคำดูถูกดูแคลนสบประมาท เธอเชิดหน้าใช้ความสามารถและงานที่เธอรักมุมานะเอาชนะคนที่เคยเหยียดหยามเธอไว้ อาชีพของเธอจึงเหมือนกับอาชีพที่กะเทยเกย์พอจะมีโอกาสทำได้อย่างที่สังคมพอจะเจียดไว้ให้ เช่นช่างเสริมสวย โมเดลลิ่ง นางโชว์ บริการ ค้าขาย ไม่ใช่อาชีพที่สัมพันธ์กับรัฐ ได้รับเกียรติมากกว่าอาชีพอื่น ๆ หรือต้องการความน่าเชื่อถือเช่นอาจารย์ นักการเมือง ผู้พิพากษา แพทย์ ข้าราชการ ทหารตำรวจ ที่เกย์กะทยมักถูกกีดกันออกไปจากวงการ

ปาน บุนนาคจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของเกย์และกะเทยในยุคสมัยนั้นที่ต้องเผชิญกับการถูกกดทับด้วยเหตุแห่งเพศสภาพเพศวิถี ตั้งแต่ในบ้านในครอบครัวที่น่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ชีวิตของปานจึงภาพสะท้อนยุคสมัยของสังคม และความสำเร็จในอาชีพรายได้ของปานก็เป็นภาพของความพยายามปลดแอกของกะเทยออกจากสภาวะกดทับ สร้างความยอมรับทางสังคมในระดับปัจเจก แต่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนทางสังคมได้ในเชิงโครงสร้างได้ เกย์กะเทยในยุคสมัยนั้นจึงเป็นที่ยอมรับอดทนได้ในระดับปัจเจกจากหน้าที่การงานมีฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ไม่ได้มีเกย์กะเทยมากนักจะโชคดีเหมือนปาน ประสบความสำเร็จ มีที่ยืนในสังคมได้เท่า ๆ กับปาน บุนนาค

ภาพ : นิตยสาร มิถุนา 24

Share this